“ไอแบงก์” ครบรอบ 16 ปี ก้าวสู่ปีที่ 17 หลังแผนฟื้นฟู เร่งสร้างกำไร เน้นความยั่งยืนทางการเงินคู่ธรรมาภิบาลที่ดี พร้อมพัฒนาระบบไอที

106

ไอแบงก์ ครบรอบ 16 ปี ก้าวสู่ปีที่ 17 ระเฑียร  ศรีมงคล ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ระบุเป็นปีที่สำคัญหลังออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อตอนต้นปี จบไตรมาสแรกสามารถทำกำไรสุทธิกว่า 170 ล้านบาท ยังคงมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้ามุสลิมตามพันธกิจธนาคาร ควบคู่การขยายสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายใหญ่คุณภาพสูงความเสี่ยงต่ำ พร้อมเร่งพัฒนาระบบสารสนเทศ (ไอที) เพื่อรองรับโมบายแบงก์กิ้ง

นายระเฑียร  ศรีมงคล ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เป็นประธานงาน “16th Anniversary ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย” เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 16 ก้าวสู่ปีที่ 17 พร้อมร่วมประกอบพิธีการทางศาสนาและให้การต้อนรับ ฯพณฯอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานกล่าวขอพรสร้างความสิริมงคล ร่วมกับกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามระดับประเทศหลายท่าน ในช่วงเช้าวันนี้ ณ สำนักงานใหญ่ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมเผยว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2545) และเริ่มเปิดดำเนินกิจการครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2546 จวบจนถึงวันนี้ (12 มิถุนายน พ.ศ.2562) ได้เวียนมาบรรจบครบรอบการดำเนินกิจการเป็นปีที่ 16 ก้าวสู่ปีที่ 17 ของธนาคาร นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ร่วมกันระลึกถึงวันที่เริ่มต้นดำเนินกิจการของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และสร้างความเป็นสิริมงคล

โดยเมื่อต้นปี 2562 คนร. เห็นว่าไอแบงก์มีผลประกอบการที่ดีแล้วและมีการปรับปรุงระบบการทำงานซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาในอดีตและสร้างความยั่งยืนในการประกอบกิจการของไอแบงก์ในอนาคตได้ การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2562 วันที่ 17 มกราคม 2562 จึงมีมติเห็นชอบให้ไอแบงก์ออกจากกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรและมอบหมายให้กระทรวงการคลังกำกับดูแลไอแบงก์ ให้สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไป ซึ่งคณะกรรมการก็ได้มอบนโยบายแก่ฝ่ายจัดการในการสร้างความยั่งยืนทั้งทางกงิน การปฏิบัติการ และธรรมาภิบาล อย่างต่อเนื่อง นายระเฑียร กล่าว

นายวุฒิชัย สุระรัตน์ชัย กรรมการและผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ณ สิ้นปี 2561 ที่ผ่านมานั้น ธนาคารสามารถทำกำไรได้ในรอบ 5 ปี โดยมีกำไรสุทธิ 531 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 80,590 ล้านบาท  และธนาคารมีการพัฒนากระบวนการและระบบงานเพื่อเพิ่มประสิทธิและดำเนินการสร้างความยั่งยืนตามนโยบายที่คณะกรรมการธนาคารมอบไว้ให้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ ณ สิ้นไตรมาส 1/2562 เป็นเงินกว่า 170 ล้านบาท มีสินเชื่อรวม 52,660 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2561 ที่ 2,517.44 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.02 และสามารถลดต้นทุนเงินฝากได้ดีกว่าเป้าหมายปี 2562 ที่ร้อยละ 0.23 ด้านประสิทธิภาพของการบริหารจัดการต้นทุนต่อรายได้อยู่ที่ร้อยละ 70 ซึ่งอยู่ในระดับที่ดีกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มลูกค้า ยังคงมุ่งเน้นลูกค้ามุสลิมตามพันธกิจของธนาคาร เพื่อให้เป็นธนาคารหลักของลูกค้ามุสลิมในขณะเดียวกันก็จะเป็นทางเลือกที่ดีของลูกค้าทั่วไป ธนาคารมุ่งเน้นการขยายสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารัฐวิสาหกิจรวมถึงลูกค้ารายใหญ่ที่มีคุณภาพและความเสี่ยงต่ำ โดยธนาคารมุ่งเน้นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน  ยกระดับการให้บริการทางการเงิน เพื่อสร้างความทัดเทียมในการให้บริการทางการเงินและเพิ่มความสะดวกสบาย ขณะนี้ลูกค้าเงินฝากของไอแบงก์สามารถรับโอนเงิน ผ่านแอพพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนจากสถาบันการเงินอื่นได้ทุกแห่งเรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการ Mobile Banking ของธนาคารก็มี Priority ต้องปรับปรุงโครงสร้าง IT Infrastructure ให้แล้วเสร็จในสิ้นปี 2562 และคาดว่าจะให้บริการ Mobile Banking ได้ภายในกลางปี 2563 สำหรับระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISMS) ไอแบงก์ก็ถือเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกๆที่ได้รับการรับรอง มาตรฐานISO/IEC 27001 เวอร์ชั่น 2013 สามารถเสริมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการว่ามีความปลอดภัยจากโลกไซเบอร์ได้

นอกจากนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญในการจัดเตรียมพนักงานเพื่อให้มีความพร้อมทางด้านการประเมินคุณธรรม และความสร้างความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ  (ITA) เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานและผู้บริหารสูงสุดของธนาคารต่อการให้ความสำคัญกับการประกาศเจตนารมย์สุจริตของธนาคาร และเพื่อจะรักษาคะแนน ITA ในปี 2562 ให้ไม่น้อยไปกว่าในระดับเดิม (ร้อยละ 93.24) นายวุฒิชัย กล่าวทิ้งท้าย