“สมชัย-ยุทธพร” ถกทิศทาง MOU จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ “สนธิญา” ชี้เป็นประโยชน์กับปชช. แต่หวั่นทำไม่ได้จริง

23

รายการโหนกระแส ออกอากาศวันที่ 22 พ.ค. 66 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 ยังเกาะติดการจับมือจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ล่าสุดวันนี้มี MOU ออกมา โดยสัมภาษณ์ อ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ม.รังสิต / อดีต กกต. มาพร้อม รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน

พี่มาได้ไงวันนี้?

สนธิญา : เอาจริงๆ นะ คอนเฟิร์มกับน้องทีมงาน แล้วน้องบอกว่าถ้าวันจันทร์ว่างก็มาคุยเรื่องประเด็นนี้ ผมตั้งใจมา ถ้ารายการคุณหนุ่มให้โอกาส ผมต้องมา

MOU ดูแล้วทิศทางเป็นยังไง?

ดร.ยุทธพร ดูแล้วน่าจะโอเคแหละ เพราะก่อนลงนามกันวันนี้เขาต้องคุยกันมาก่อนแล้ว ข้อตกลงต่างๆ ไม่น่ามีปัญหาระหว่างพรรคที่จะมาร่วมรัฐบาลกัน แล้วก็ MOU น่าจะออกมาในลักษณะกว้างๆ ผมก็ไม่ได้ไปลงลึกว่าต้องทำอะไร เป็นกว้างเรื่องการเมือง เช่นการปฏิรูปการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การกระจายอำนาจ แม้แต่เรื่องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตามทิศทางนโยบายแก้ปัญหาแต่ละพรรคที่ได้เสนอมา ประเด็นทางสังคมต่างๆ อาจมีเรื่องรูปแบบการเปลี่ยนเกณฑ์ทหาร หรือลดความเหลื่อมล้ำในการสร้างโอกาส เป็นประเด็นกว้างๆ แต่ประเด็นร้อนๆ ประเด็นอ่อนไหว อย่าง 112 คิดว่าไม่มี

พี่สนธิญามาก็เป็นโอกาสที่ดี ได้มองกันสองมุม พี่เห็น MOU แล้วใช่มั้ย?

สนธิญา : เห็นประปราย

23 ข้อคร่าวๆ พี่เห็นด้วยทั้ง 23 ข้อมั้ย?

สนธิญา : ผมว่าเป็น MOU  ที่เขาร่างออกมาจะเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน

ไม่คิดว่าจะได้ยินคำนี้?

สนธิญา : ผมไม่ใช่คนที่จะต้องค้านหัวชนฝา แต่สิ่งที่จะกราบเรียนก็คือว่าสิ่งเหล่านี้ในบางเรื่อง จะสามารถผลักดันไปสู่การทำจริงได้หรือไม่อย่างไร กลัวทำได้ไม่จริง

อาจารย์มองยังไง 23 ข้อ?

อ.สมชัย ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ก่อนนักการเมืองมาทำงานร่วมกัน ก็ต้องมาคุยกันก่อนว่าจะมีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดผลที่เกิดขึ้น MOU วันนี้ มองว่าเป็นการผสมผสาน เอาสิ่งที่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองมาร่วมกันสอดแทรกเข้าไป เพราะเดิมก่อนหน้านี้มีแค่ 13 ข้อ แล้วคนก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า 13 ข้อดังกล่าวดูเป็นฝ่ายก้าวไกลคิดแต่เพียงฝ่ายเดียว พรรคการเมืองอื่นแทบไม่ได้คิด เท่าที่ดูของใหม่ก็มีการสอดแทรกเข้าไปหลายๆ เรื่องเช่นการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ ผมเข้าใจว่าพรรคเป็นธรรม พรรคประชาชาติน่าจะเป็นฝ่ายที่เอาเข้าไป

MOU   23 ข้อที่เห็นคือคร่าวๆ ต้องนำเสนอจากพรรคร่วมด้วย?

อ.สมชัย มีการนำเสนอกลับไปกลับมา เข้าใจว่า 2-3 วันนี้น่าจะสื่อสารกลับไปกลับมา คือพรรคไหนมีเรื่องอะไรเข้ามาเพิ่มเติม ข้อไหนมีข้อขัดข้องแล้วจะเขียนอย่างไรไม่ให้ติดปัญหาต่อกัน เช่นเรื่องสุรา แทนที่จะส่งเสริมเสรี ก็เหมือนช่วยทำให้ลดการผูกขาดในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นการพูดกลางๆ รวมๆ เรื่องเหล้าสุราก็เป็นแค่เพียงตัวอย่างขึ้นมา แต่โดยหลักๆ คือต้องลดการผูกขาดในกิจการทุกเรื่อง แล้วยกตัวอย่างเรื่องสุราขึ้นมา หรือประเด็นสมรสเท่าเทียม แทนที่จะบอกว่าต้องอย่างนี้แน่ๆ ก็บอกว่าต้องให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีและความสมัครใจ ผมคิดว่าลักษณะแบบนี้ ถือว่าเป็นการผสมผสาน และสร้างข้อตกลงใหม่ขึ้นมาโดยทุกฝ่ายรับได้ครับ

ดร.ยุทธพร : ผมคิดว่าเป็นมิติใหม่ทางการเมืองไทย เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยเห็นเรื่อง MOU ในการเมืองไทย เวลาจัดตั้งรัฐบาลในอดีตเป็นเรื่องการมาพูดคุยว่าจะแบ่งเค้กเป็นยังไง โควตาเป็นยังไง ซึ่งอันนั้นเป็นการเมืองแบบเก่า ตอนนี้ในปัจจุยันมีสภาวะสภาแขวน หมายถึงไม่มีพรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินกึ่งนึงในสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นแนวคิด MOU จึงเกิดขึ้นในหลายประเทศ อังกฤษก็มี เยอรมณีก็มี มาเลเซียเพื่อนบ้านก็มี หรือเคนย่า นิวซีแลนด์มีหมด ดังนั้นครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งที่เอาเข้ามาใช้ในการเมืองไทย ซึ่ง MOU ตรงนี้คือการเอาส่วนผสมของนโยบายต่างๆ แต่ละพรรคเสนอมาเป็นส่วนรวมกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 23 ข้อก็เป็นปัจจัยท้าทายนะว่าจะทำสำเร็จมั้ย อีกด้านก็สะท้อนเหมือนกันนะ ว่าการทำ MOU ก็เป็นการไม่มันใจในกติกาและสถานการณ์ของพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคแกนหลักของการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ ตรงนี้ก็สะท้อนภาพให้เห็นว่าโอกาสพลิกผัน พรรคก้าวไกลก็ทราบดีอยู่นะครับว่ามันเป็นไปได้ ต้องมีการทำ MOU เหล่านี้ และนอกจากนี้มีกลไกอื่นด้วยที่เป็นคู่ขนาน MOU คือคณะทำงานในการเปลี่ยนผ่าน คณะทำงานเจรจา ซึ่งสองส่วนนี้ต้องขับเคลื่อนไป ดังนั้นวันนี้แน่นอน การต่อรองโควตารัฐมนตรีจะเป็นสิ่งที่ขัดกับความตั้งใจและสิ่งที่ก้าวไกลอยากเห็น แต่ในระดับหนึ่งก็ต้องมีการดีล ตอนนี้ระดับพรรคอาจดีลได้ แต่ระดับมุ้งผมว่าอาจเป็นงานหนักในการดีลว่าหลังจากนี้ไปจะเดินต่อได้อย่างไร รวมถึงการไปดีลกับสว. นี่คือโจทย์ใหญ่เลย สิ่งนี่เป็นปัญหาที่เราเรียกว่าประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่เก่าก็ไม่ใช่ ใหม่ก็ไม่เชิง ณ วันนี้เมื่อย้อนไป 9 ปีวันรัฐประหาร วันนี้ 9 ปีถัดมา คือวันที่เขาตกลงมาเจรจา

นี่คือสัญลักษณ์ของเขาเลย?

ดร.ยุทธพร สัญลักษณ์ทางการเมืองเลยครับ ตอนไปคุยที่ร้านอาหาร ร้านอาหารที่ไปคุย คือร้านอาหารที่ไปคุยกันหลังจากที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ท่านประกาศว่าผมพอแล้ว แกนนำที่ไปคุยกับท่านที่บ้านสี่เสา ก็เดินทางมาที่ร้านที่เขาไปคุยกันนี่ และตกลงว่าเราจะสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง และพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกฯ มีสัญลักษณ์ทางการเมืองทุกก้าวย่าง

น่าจะผลักดันเรื่องราวเหล่านี้ อันนี้ยังไม่รวม 112 จะถูกแยกออกมาหรือยังไง?

อ.สมชัย ไม่อยู่ในนั้นก็ดีแล้ว กลายเป็นประเด็นทำให้เกิดความขัดแย้งและหลายฝ่ายอาจรู้สึกว่าถ้าใส่เข้ามาแล้วอาจเกิดความลำบากใจในการร่วมรัฐบาลด้วยกัน เพราะเป็นประเด็นทางสังคม ผมก็พูดประโยคเดิม อย่าไปมอง 112 เป็นเรื่องใหญ่มากนัก เพราะมันคือการแก้กฎหมาย แล้วกระบวนการแก้กฎหมายก็ต้องเอาเข้าสู่สภา เมื่อเข้าสู่สภา สภา 500 คน ส.ส.คุณต้องคุยกันว่าจะเอาอย่างไร ถ้าคุณไม่เห็นชอบตั้งแต่ต้น คุณก็ใช้กลไกรัฐสภา ไม่รับหลักการในวาระที่ 1 ทำได้ หรือแม้กระทั่งว่ารับหลักการวาระที่ 1 แล้ว วาระสอง วาระสาม การตั้งกรรมาธิการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาษาต่างๆ ก็เป็นไปได้ หรือแม้แต่ผ่านส.ส. แล้วก็มีขั้นตอนสว. ที่ต้องไปดูข้างหลังอีกขั้นตอนนึงว่าสว.มีความเห็นว่าอย่างไร เช่นนั้นเรื่องการแก้ไขกฎหมายให้เป็นเรื่องในอนาคตไปก็แล้วกัน ไม่จำเป็นต้องมาพูดตอนนี้ เอาเรื่องหลักๆ ที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี เอามาพูดกันก่อนน่าจะดีกว่า

พี่เคลียร์มั้ย?

สนธิญา : ผมว่าลับลวงพราง โดยความเป็นจริง นโยบายที่ประกาศชัดเจนมาตลอดของก้าวไกลคือ 112 ซึ่ง 112 จะเป็นระเบิดเวลาของรัฐบาลชุดนี้ ผมกล้าพูดได้เลย เมื่อไหร่คุณหยิบ 112 เข้ามา คุณนับเวลาได้เลย แต่เรื่อง MOU หรือตัวบันทึกความเข้าใจพรรคร่วม ผมมองว่าเขาหยิบยกในประเด็นที่เป็นนโยบายลำดับความสำคัญในเรื่องการแก้ปัญหาให้ประเทศชาติและประชาชน น่าจะหยิบยกขึ้นมาเป็น 1 2 3 คุณจะทำอะไร ใน 100 วันแรก

ทั้งหมด 23 ข้อ พี่เห็นด้วย แสดงว่าหนึ่งในนั้นคือปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร พี่เห็นด้วย?

สนธิญา : คือประเด็นที่เข้าไปแตะแล้วมันมีปัญหา ในเรื่องความมั่นคงหรืออะไรก็ตาม ผมมองว่ายังไม่สมควรในช่วงเวลานี้ คุณเอาเรื่องเร่งด่วนในปัจจุบัน เช่นปัญหาปากท้อง ทำยังไงตลาดหุ้นที่ตกมา 4-5 วันรวดตอนที่รู้ว่าพรรคก้าวไกลได้รัฐบาลใหม่มันเพราะปัญหาอะไร ต้องให้ชัดตรงนั้นก่อน เพราะตอนนี้ตลาดหุ้นก็ยังตกอยู่นะ

เขารออยู่หรือเปล่า รอจะขึ้น?

สนธิญา : ผมไม่เชื่อ

ดร.ยุทธพร ถ้าพี่สนธิญาไม่เชื่อเรื่องปฏิรูปกองทัพ ผมกลัวจะไม่สำเร็จแล้ว เพราะเดี๋ยวพี่จะไปร้องอีก (หัวเราะ)

เรื่องหุ้นที่ตก มองยังไง?

ดร.สมชัย :   เวลามีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ฉับพลันหรือรุนแรง ฝ่ายที่เคยชินกับของเดิมๆ ก็จะหวาดวิตกล่วงหน้าไปก่อน เป็นธรรมชาติทั่วๆ ไป ประเด็นก้าวไกลต้องชมเขาอย่างนึง เขาพยายามจับสิ่งที่เป็นปัญหา สิ่งที่คนพยายามหลีกเลี่ยงไม่พูดคุยกันหยิบขึ้นมาบนโต๊ะมาคุยกันให้รู้เรื่อง ยกตัวอย่างระบบปัญหาราชการ ปัญหากองทัพ เรื่องงบประมาณที่ไม่โปร่งใส เรื่องการจัดซื้ออาวุธ ที่บางครั้งจัดซื้อไปแล้วแต่ใช้การไม่ได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เหมือนกับว่าใครก็ตามที่มาเป็นฝ่ายการเมืองก็จะเก็บไว้ก่อนเพราะเกรงความขัดแย้ง กลัวว่าถ้าพูดไปแล้วจะเกิดความไม่พอใจ เดี๋ยวหาเรื่องยึดอำนาจอีก อย่างนี้เป็นต้น ในแง่ก้าวไกลเขาหยิบเรื่องที่อยู่ใต้โต๊ะทั้งหลายมาวางไว้บนโต๊ะแล้วพูดคุยกัน หรือ 112 ก็ตาม อยากบอกว่าจริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นไม่ใช่การแก้กฎหมายนะ แต่เอาปัญหาดังกล่าวมาวางไว้บนโต๊ะก็ได้เพื่อพูดคุยกัน อาจจะตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออย่างไร เชิญสนธิญา ไปเป็นกรรมาธิการอีกคนก็ได้ รับเบี้ยประชุม 1,500 ในแต่ละครั้งที่มีการพูดคุยกัน

สนธิญา ที่ผ่านมาไม่เคยได้เลยนะครับ

อ.สมชัย ไม่ใช่ ท่านไปในฐานะที่ปรึกษาโดยไม่มีค่าตอบแทน

สนธิญา ตั้งแต่เข้าประชุม ผมไม่เคยเบิกเบี้ยเลี้ยงเลย

อ.สมชัย มันมีสองประเภท

แล้วค่ารถผมล่ะ?

สนธิญา ค่ารถต้องเบิก (หัวเราะ)

อ.สมชัย มันมีสองประเภท หนึ่งคืออาจเป็นกรรมาธิการตัวจริง หรืออนุกรรมการตัวจริง เขามีเบี้ย 1,500 หรือ 600 แต่ถ้าหากเป็นที่ปรึกษาแต่งตั้งเข้ามา มาฟังเป็นชั่วครั้งชั่วคราว พวกนี้จะไม่มีค่าตอบแทน แต่อย่าลืมให้ค่ารถเขานะ (หัวเราะ)

สนธิญา แต่ของผมมีเชิญไปทุกครั้งเลยนะกรรมาธิการ มีหนังสือเป็นตั้งเลย ไม่มีได้ตังค์สักบาท ได้แต่กินข้าวฟรี

บอกเขามั้ย?

สนธิญา : ไม่ได้ขอ ไม่เคยถามด้วย เพราะเราตั้งใจว่าเข้าไปทำงานตรงนั้นเรื่องประเทศชาติและประชาชน น่าจะเสียสละได้ก็เสียสละไป

วันนั้นอาจารย์บอกว่าคุณพิธาต้องผ่านสองด่านให้ได้ ด่านแรกคือการตรวจสอบคุณสมบัติ อีกด่านคือเรื่องราวการโหวต สองด่านนี้อะไรจะมาก่อน?

อ.สมชัย หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าน่าจะโหวตเลือกนายกฯ ก่อน เพราะกกต.ไปบอกว่าจะพิจารณาเรื่องคุณสมบัติหลังการรับรอง ส.ส. ซึ่งจริงๆ แล้วขณะที่ยังไม่รับรองส.ส. เรื่องนี้กกต.ก็เดินหน้าคู่ขนานไป แล้วมีความเป็นไปได้หลังจากรับรองส.ส.เสร็จแล้วอาจมีการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติถัดจากนั้นทันที ถามว่าทำไมต้องหลังจากรับรองส.ส. คำตอบคือถ้าก่อนรับรองส.ส. สมมติมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ถ้าก่อนเลือกตั้งไม่เป็นปัญหาชัดเจน ศาลวินิจฉัยว่ามีไม่มี ครบไม่ครบ เอาออกจากสนามไปเลย แต่จังหวะที่มีการเลือกตั้งไปแล้วก่อนการประกาศผล กฎหมายเขียนไว้ชัดว่าถ้ามีเรื่องพวกนี้ขึ้นมาจะทำอย่างไร แต่กฎหมายเขียนชัดอีกช่วงนึงคือหลังเป็นส.ส.แล้วมีการร้องเรื่องคุณสมบัติก็ดี หรือกกต.พบว่ามีคุณสมบัติที่ไม่ครบถ้วนก็ดี กกต.ก็สามารถวินิจฉัยและส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที ตอนนี้ก็เลยบอกว่าอาจมีช่วงสักประมาณ 3 สัปดาห์ของความน่าตื่นเต้น ไม่แน่ใจคุณสนธิญาอาจจับตาช่วงนั้นเป็นพิเศษก็ได้ หลังการรับรองผล สองสัปดาห์ถัดไปต้องมีการเลือกประธานสภาและมีการนัดหมายประชุมที่ประชุมร่วมรัฐสภาอีกสัปดาห์นึง ใน 3 สัปดาห์นี้ อาจเกิดหลายๆ อย่างขึ้นได้ เช่นกกต.อาจวินิจฉัยเรื่องคุณสมบัติ เสร็จแล้วกกต.เมื่อวินิจฉัยเสร็จก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลก็อาจเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ต้องวินิจฉัยโดยเร็ว ตามคำร้อง อย่างที่บอกคุณสนธิญาว่าถึงคุณสนธิญาไม่ร้อง เขาก็น่าจะดำเนินการได้โดยเร็ว

สนธิญาไปร้องซ้ำ?

สนธิญา : ขอบคุณครับที่ถามประเด็นนี้ ผมไปวันนั้นไม่ได้ไปร้องซ้ำ และผมเป็นห่วงเหมือนที่อ.สมชัยกราบเรียน ตอนนี้สองลูกที่ผมคิดว่าจะทำให้ก้าวไกลไปไม่ถึงฝั่งฝัน คือกรณีถือหุ้นไอทีวี สองคือเรื่องมาตรา 112 เราจะเห็นว่ากรณี 112 ก้าวไกลเริ่มถอยออกไปจาก MOU แต่กรณีของการถือหุ้น ผมกราบเรียนว่าเป็นปัญหาที่น่าหนักใจ และเกี่ยวพันถึงการตั้งรัฐบาลด้วย ผมไปขอความชัดเจนคณะกรรมการการเลือกตั้งเพราะว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ให้ความชัดเจนว่ากรณีที่มีคนไปร้อง ซึ่งคุณเรืองไกรไปร้องเมื่อวันที่ 10 พ.ค. วันที่ 11 เลขาธิการปปช.ออกมาแถลงเลย บอกว่าคุณพิธาถือหุ้นอยู่จริง 4.2 หมื่นหุ้น แล้วคุณพิธามาแจ้งหลังจากที่ปี 2562 ด้วยนะ ฉะนั้นปัญหาจึงอยู่ที่ว่าถ้ากกต.ไม่ชัดเจนในประเด็นนี้ มันจะเสียหายไปถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและตลาดหุ้นด้วย

แต่กกต. ก็รับทราบเรื่องอยู่แล้ว?

อ.สมชัย ถึงแม้ไม่มีคนร้องเขาก็ต้องทำตามหน้าที่นะครับ

กลัว?

สนธิญา ไม่ได้กลัว แต่ก่อนหน้านั้นกกต.ไม่เคยบอกไทม์ไลน์เวลาตรงนั้นเลย

อ.สมชัย เอาตามตรง กกต.ไม่เคยบอกไทม์ไลน์อะไรสักอย่าง เวลาเราทำงานขณะนี้การสื่อสารของกกต.กับประชาชนค่อนข้างน้อย หลายๆ เรื่องเขาก็ไม่ได้พูดสักเท่าไหร่หรอก แต่อย่าไปว่าเขาเพราะเขาทำงานอยู่ตลอดเวลา

สนธิญา : ผมไม่ได้ไปว่ากกต. แต่กกต.โปรดชี้แจงด้วยว่าไทม์ไลน์ตรงนี้จบตรงไหน อย่าลืมนะว่ากรณีเมื่อกกต.ประกาศให้ส.ส.ครบ 476 คน คือ 95 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนส.ส. เพื่อเปิดสภาสรรหาประธานสภานั้น กกต.ต้องดำเนินการภายใน 60 วันนะ แล้วหลังจากนั้น ถ้าสมมติมีเรื่องร้องเรียนผูกพันต่อกันไปเรื่อยๆ ไม่จบสักที กกต.บอกว่าต้องให้ครบกรณีเรื่องตรวจสอบ สอบสวน กรณีมีการร้องเรียน จะใช้เวลาไปอีกเท่าไหร่

กลัวช้า?

สนธิญา : ไม่ใช่ นี่คือช้าเลย ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามรัฐบาลได้คุณพิธาเป็นนายกฯ แต่เรื่องนี้ยังค้างอยู่ กกต.กำลังส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัย สถานะเดียวกับท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่โดนร้องเรื่องวาระ 8 ปี ก็คือเรื่องเข้าไปศาลรัฐธรรมนูญ ไม่แน่ใจว่าศาลรัฐธรรมจะวินิจฉัยให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่อย่างไร แล้วมันผูกพันไปถึงการที่คุณพิธาไปเซ็นรับรองส.ส.จำนวน 500 ระบบเขตและบัญชีด้วย นี่คือความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

อาจารย์มองยังไง?

ดร.ยุทธพร : ผมว่าประเด็นหุ้นสื่ออาจไม่ได้น่ากังวลมากนัก เพราะมีทั้งเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มีทั้งแนววินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชัดเจน เช่น จะรวมรัฐธรรมนูญ เขาป้องกันการใช้สื่อมาครอบงำความคิด หรือสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง ขณะเดียวกันคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลฎีกาก็วางหลักไว้ชัดว่าบริษัทไหนที่ถือว่าครองหุ้นสื่อ ให้ดูว่ารายได้ของบริษัทนั้นยังมีจากเรื่องของการจัดทำกิจการสื่อมั้ย บางบริษัทจดทะเบียนไว้ ยังไม่สิ้นสภาพนิติบุคคล อย่างกรณีไอทีวีเขาเลิกกิจการมา 10 กว่าปีแล้ว ไม่มีรายได้จากตรงนั้นแล้ว มันอาจไปเข้าแนววินิจฉัยตรงนั้นก็ได้ว่าไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นการถือครองหุ้นสื่อ ประเด็นนี้ไม่ได้กังวลอะไรมาก แต่ที่กังวลคือเกณฑ์ในการจัดตั้งรัฐบาล นี่คือพลิกไปพลิกมาได้ตลอด การถือครองหุ้นสื่อถ้าผิดจริงอาจส่งผลไปถึงผู้สมัครคนอื่นๆ ของพรรคก้าวไกล ที่หัวหน้าพรรคเซ็นรับรองเป็นไปได้ สุดท้ายถ้าไม่ผิดก็เป็นต่อได้ แต่เกมในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นไม่จบง่ายๆ เพราะวันนี้มีปัจจัยพลิกผันหลายอย่าง การประกาศรับรองผลของกกต หรือแม้แต่สว.จะว่ายังไง ดีลระหว่างมุ้งต่างๆ ระดับพรรคอาจดีลไม่ยาก แต่ระดับมุ้งเป็นเรื่องใหญ่ และการแบกรับความคาดหวังของประชาชน อาจเกิดโมเมนตัมทางการเมืองที่เกิดกับพรรคก้าวไกลก็ได้ อย่างกรณีพรรคชาติพัฒนากล้าอย่างที่เห็น เป็นต้น

พี่สนธิญา บอกว่ามีโอกาสจะพลิกเหรอ?

สนธิญา ผมกราบเรียนทั้งประเทศว่า ถึงขณะนี้ เวลานี้ ผมไม่เชื่อว่าก้าวไกลจะจัดตั้งรัฐบาลได้ ผมเชื่ออย่างนั้น หนึ่งกรณีการถือหุ้นสื่อ แม้อาจารย์จะกราบเรียนยงไงก็ตาม แต่มาตรา 93 (3) เขาเขียนไว้ชัดเจนกรณีการถือหุ้นไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ เขาไม่ได้กำหนดไว้เลยว่า หนึ่งหุ้น หรือสองหุ้น ตรงนั้นคือความไม่สบายใจของพี่น้องประชาชน หรือต่างประเทศก็ตาม ตรงนั้นไม่มีหลักอะไรเลย ตลาดหุ้นแน่นอนสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สบายใจ เมื่อไหร่ก็ตามแค่คณะกรรมการเลือกตั้งหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาเพื่อส่งเรื่องต่อไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อถึงตอนนั้นไม่นิ่งแน่นอน สองลับลวงพราง กรณีมาตรา 112 ความไม่สบายใจของสว.ส่วนมาก เขาไม่เอาด้วย

พรุ่งนี้จะมีม็อบไปเยี่ยมสว.?

สนธิญา : ก็ไป ม็อบทุกส่วนก็จัดได้หมดแหละครับ นี่คือระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องใหญ่

พี่มองว่าคุณพิธาไม่น่าได้จัดเหรอ?

สนธิญา : ผมมองว่าพรรคก้าวไกลไม่ใช่คุณพิธา ทั้งพรรคเลย ไม่มีโอกาสที่จะสามารถจัดตั้งเป็นรัฐบาลได้ ผมไม่เชื่อด้วยขณะนี้วาพรรคเพื่อไทยจะมีความจริงใจในการจัดตั้งกับพรรคก้าวไกล

พี่จะบอกว่าพรรครัฐบาลไม่จริงใจ?

สนธิญา : ไม่เชื่อว่าเขาจะไม่จริงใจ ไม่ใช่ไม่จริงใจ แต่ผมไม่เชื่อว่าจะจริงใจ คุณหนุ่มคอยดูใน 3-4 เดือนจะเป็นยังไง

พี่ไม่ได้ปั่น ไม่ได้เสี้ยม?

สนธิญา : ไม่ได้ปั่น ผมสู้ในเรื่องการเมืองมา 4-5 รอบ แล้วผมก็แพ้มาตลอดเช่นกัน แล้วผมก็เห็นแนวทางด้านการเมืองมาตั้งแต่สมัยพฤษภาทมิฬ ก็อยู่ในม็อบ อยู่ในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลมาตลอด ผมอยู่บนความเป็นจริง

พี่จะบอกว่าสุดท้ายเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลเหรอ?

สนธิญา : ผมยังไม่เชื่อ แต่เชื่อว่าเมื่อไหร่ก็ตามพรรคหนึ่งพรรคใดก็ตาม ที่ไม่มีเงื่อนไขทำให้ประเทศวุ่นวาย ไม่มีเงื่อนไขผู้นำของประเทศ ไม่มีชนักติดหลังอะไรก็ตาม จะทำให้ความเชื่อมั่นระดับประเทศ ประชาชน หรือพรรคการเมืองด้วยกัน มันสะดวกกว่า มันดีกว่า

อ.สมชัย อยากเสนอแบบนี้ดีกว่า ณ วันนี้อย่าเพิ่งไปคาดการณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเชิงเลวร้ายต่างๆ เราพยายามส่งกำลังใจให้พรรคการเมืองที่เขาได้เสียงมากที่สุด ได้จัดตั้งรัฐบาลด้วยวิถีทางประชาธิปไตยก่อนดีกว่า

สนธิญาให้กำลังใจก่อนได้มั้ย?

สนธิญา : ผมให้กำลังใจทุกวัน ว่าคุณพิธาหรือพรรคก้าวไกล หรือพรรคที่ได้คะแนนส่วนมาก แต่ไม่ใช่ครึ่งนึงนะ เขาได้ 150 คนนะ ให้กำลังใจว่าคุณดำเนินการไปเถอะ แต่ในเมื่อสิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ไปในทิศทางที่ส่งเสริม

อ.สมชัย : ที่บอกว่าต้องส่งเสริมเขาก่อน แล้วตรรกะที่บอกว่า 152 มันก็ไม่ถึงครึ่ง ถ้าพูดอย่างนั้นก็ตีกันตลอดแหละ เพราะคงไม่มีพรรคไหนที่เกิน 250 ก็จะไปตีกันว่าพรรคอื่นรวมกันก็ยังมากกว่า มันก็ไม่จบไม่สิ้น ประเด็นคุยเรื่องคุณสมบัติ เราก็ให้อำนาจกับกกต.เขาไป เขาเป็นฝ่ายต้องพิจารณาว่าเรื่องราวต่างๆ เป็นยังไง ผมคิดว่าคนทั่วๆ ไป เราไม่รู้ข้อมูลที่ลึกซึ้งทั้งหมด เรื่องหุ้นเป็นอย่างไร ตัวเลขการถือครองเป็นอย่างไร เป็นเจ้าของจริงไม่จริง ก็เป็นเรื่องกกต.ที่ต้องวินิจฉัย ถ้ากกต.วินิจฉัยไป ถ้าเป็นบวกก็เดินหน้าเข้าสู่สภา เข้าสู่การประชุมได้ แต่ถ้าเป็นลบ ก็ส่งไปศาลอีกทีนึง รอจังหวะนั้นดีกว่า

ดร.ยุทธพร วันนี้ปัญหาอยู่ที่เสถียรภาพ ที่เราคุยกันว่าสังคมไม่มั่นใจ ที่พี่สนธิญาบอกว่าตลาดหุ้นตกทุกวัน ถ้าพรรคก้าวไกลมาก็ตกอีก มันไม่ได้อยู่ตรงนั้น ปัญหาอยู่ที่เสถียรภาพ ถ้าการเมืองมีเสถียรภาพ ไม่ว่าพรรคไหนมาก็ตาม ทุกอย่างเดินไปได้ แต่วันนี้การเมืองไม่มีเสถียรภาพเพราะมันไม่เกิดความสมดุลกันระหว่างในสภากับนอกสภา การเมืองนอกสภาก้าวหน้า แต่การเมืองในสภาล้าหลัง ดังนั้นเราจึงเห็นว่าการไม่เคารพในเรื่องเจตจำนงของประชาชน และไม่เคารพเรื่องควาชอบธรรมทางการเมือง อาจทำให้ภาวะไม่สมดุลแบบนี้เดินต่อไป พอเดินต่อไปท้ายที่สุดก็อาจนำพามาซึ่งการชุมนุม ความรุนแรง การไม่ลงตัวกัน สุดท้ายอาจนำไปสู่ปัญหาที่ไม่จบ ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่กำลังจัดตั้งรัฐบาล ต้องรับฟังความคิดเห็นของเสียงข้างน้อยด้วย ต้องมองทั้งสองด้าน จะได้มีความชอบธรรม ขณะเดียวกันต้องมีพื้นที่เห็นต่าง

มีมั้ยความชอบธรรม?

สนธิญา ประเด็นที่หนึ่ง นี่คือที่ผมบอก เสถียรภาพของพรรคก้าวไกลในขณะนี้ไม่เป็นที่เชื่อมั่นสองประการ หนึ่งมาตรา 112 สองการที่คุณกำลังโดนร้องหุ้นไอทีวี นี่คือเสถียรภาพ กรณีใครจะไปบีบบังคับกกต. อะไรก็ตาม ผมไม่มีอำนาจบีบกกต.ได้เลย กรณีที่ผมไปกกต. เพื่อทวงถามว่าทำไมไม่ชัดเจนประเด็นเหล่านี้เสีย เท่านั้นเอง

พยายามติดต่ออีกขั้วฝั่งรัฐบาล ไม่ว่าจะรวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และภูมิใจไทย แต่ตอนนี้เขาต้องอยู่ในระหว่างสงบนิ่งก่อน เคลื่อนไหวอะไรไม่ได้ เขาต้องดูก่อน จะตอบโต้ก็ยังไม่ได้ อยู่ในช่วงของการมอง ส่วนมุมส่วนอื่นๆ ราชการ ทั้งตร. ทหารก็ดี ทางเราก็ยินดี ถ้าอยากมาแสดงความคิดเห็นว่าอันไหนควรไม่ควรยังไง บางทีติดต่อไปแล้วแต่ไม่มา มีแต่พี่นี่แหละที่มาลุยเลย พี่บอกว่าเป็นความเข้าใจผิดด้วย พี่ไม่ได้ไปร้อง?

สนธิญา : ผมไม่ได้ไปร้อง เขาร้องกันอยู่เรียบร้อยหมดแล้ว แต่ผมไปสอบถามว่าทำไมกกต.ไม่แถลงเรื่องนี้ให้ชัดเจนเสีย

อ.สมชัย : แล้วเขาตอบหรือยังครับ

สนธิญา : ผมไปร้องกลางคืนวันนั้น เขาก็ตอบมาเลย เป็นเหตุผล 1 2 3 4 5 ที่เขาตอบมา ผมไปวันนั้นแล้วกลางคืนเขาแถลงว่าตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเรียบร้อยหมดแล้ว แล้วจะไปสู่กระบวนการหลังนับคะแนนเสร็จแล้วตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ถ้ามีมูลจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมก็ตอบไปว่านั่นแหละทำให้ประเทศวิบัติ

ในสิ่งที่พี่สนธิญาแกพูด เรื่องนี้อาจมีแรงเหวี่ยงกลับไปหาเพื่อไทย?

ดร.ยุทธพร : ก็อาจเป็นไปได้ การเมืองไทยอะไรก็เกิดขึ้นได้ แล้วเรื่องที่เคยคุยไว้คือการจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย ก็มีโอกาสเป็นอย่างนั้น เพราะประกาศรับรองผลจากกกต.ก็ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ปัจจัยเรื่องสว.จะเดินหน้าต่อยังไง ไม่ว่าวันนี้จะมีกระบวนการอย่างไรก็ตาม มันพลิกได้ แม้ว่าหลายคนบอกว่าพรรคเพื่อไทยถ้าครั้งนี้พลิก จะเป็นผลร้ายกับการเลือกตั้งในครั้งหน้า ผมว่าอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด อย่าลืมว่าคนเลือกพรรคเพื่อไทย เขาก็ต้องการแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย แล้วต้องการเลือกส.ส.พรรคเพื่อไทย แล้ววันนี้การร่วมรัฐบาลเจตจำนงร่วมไม่ต่างกัน เจตจำนงร่วมคือต้องการต่อต้านเหมือนๆ กัน มันไม่ได้เป็นปัญหาอย่างที่ใครหลายคนกังวลว่าเดี๋ยวจะเหมือนพรรคเก่าแก่พรรคนึง ซึ่งเขาเดินต่อยาก แต่อันนั้นอย่าลืมว่าเขามีปัญหาโครงสร้างภายในพรรค ต่างจากพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้วันนี้เรายังไม่เห็นคือตำแหน่งประธานสภา ตกลงประธานสภาจะมาจากก้าวไกลหรือเพื่อไทย ยังไม่ลงตัวนะ ซึ่งประ
ธานสภาคือจุดตั้งต้นก่อนการเลือกนายกฯ เป็นตัวกำหนดทิศทางเบื้องต้นและกุมเกมในการเลือกนายกฯ ด้วย อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน

อ.สมชัย :   เกมการเลือกประธานสภา น่าสนใจมาก เพราะว่าเป็นตำแหน่งซึ่งคุมเกมในการประชุมรัฐสภาต่อไป สมมติถ้าเสนอไปครั้งแรก แล้วไม่ได้เสียงเกิน 376 ก็เป็นหน้าที่ประธานสภาว่าจะเอายังไงต่อ การต่อรองของพรรคเพื่อไทยต่อรองมีเหตุผลนะ เขาบอกว่าเสียงเราใกล้ๆ กันไม่ใช่หรือ นายกฯ เราให้คุณแล้ว ดังนั้นในส่วนนิติบัญญัติก็น่าจะให้เรา เหมือนเป็นประมุขแต่ละด้านไป คุณเป็นประมุขฝ่ายบริหาร เราก็ขอประมุขนิติบัญญัติ แต่ก็เป็นเกมที่เสี่ยงของพรรคก้าวไกล ถ้าหากว่าประมุขนิติบัญญัตินั้นกลายเป็นของพรรคอื่น ความไม่นิ่งในการเสนอคนเป็นนายกฯ ก็จะเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็เป็นวิธีการทางการเมืองเพราะพรรคการเมืองก็ต้องมองประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก

มีหลายคนมองว่านอกจากก้าวไกล เพื่อไทย ก็ยังมีอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ คือรวมไทยสร้างชาติ เขาบอกลุงตู่มีโอกาสกลับมา?

ดร.ยุทธพร : เป็นไปได้ แต่โอกาสจะน้อย เพราะเงื่อนไขในการจัดตั้งรัฐบาลยังถูกทำให้แยกส่วน เรื่องผลการเลือกตั้ง เกมตรงนี้ยังมี 250 สว. อยู่ ถ้าเอาตัวเลขมารวมกัน ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนาได้ 181 เติมด้วยสว. 250 เกิน 376 ได้เป็นนายกฯ เลยนะ แต่ถ้าอยู่ต่อ ต้องไปดูเสียงผู้แทนราษฎร จะเดินตี่อได้ยาก โอกาสเป็นไปได้แต่น้อย ในการที่พลเอกประยุทธ์จะกลับมา

อ.สมชัย ถ้าคิดผมถือว่าคิดสั้น เพราะอาจชนะได้ในขั้นการโหวตนายกฯ แต่การอยู่ต่อไม่ใช่เรื่องง่าย สูตรฝ่ายต้องการอำนาจรัฐอาจคิดว่ายึดทีละด่าน ด่านที่หนึ่งยึดนายกฯ ก่อนแล้วค่อยไปคิดหาไพร่พลมาอย่างไร หาพวกแปรพักตร์ พวกงูเห่ามาอย่างไร แต่ผมคิดว่า ณ เวลานี้ไม่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น ถ้าเสียงของคุณก้ำกึ่งกัน แพ้ชนะ 10 20 เสียง โอกาสพลิกกลับเป็นไปได้ แต่นี่คุณแพ้เยอะ แพ้เป็นร้อย ดังนั้นโอกาสทำแบบนั้นยากมาก แล้วท้ายที่สุดแล้ว ที่บอกคิดสั้นคือไม่ก่อให้เกิดผลดีกับบ้านเมืองเลย เพราะคุณเป็นนายกฯ ได้จริง แต่ครั้งแรกที่เข้าสภา สภาต้องผ่านพรบ.งบประมาณ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด วันนั้นก็แพ้แล้ว ต้องยุบสภา หรือลาออกทันที แทนที่เราจะให้บ้านเมืองเดินไปแบบติดๆ ขัดๆ แบบนี้ เราส่งเสริมให้ฝ่ายที่เขามีความพร้อมในการจัดตั้งรัฐบาลและเดินไปข้างหน้าก่อนไม่ดีกว่าหรือ ไม่ควรมีอะไรแบบนั้น ต้องบอกลุงตู่ว่าท่านเองก็ทำคุณงามความดีให้บ้านเมืองพอสมควรแล้ว นานๆ ผมจะชมสักทีนะ ถือว่าทำสิ่งต่างๆ พอสมควรแล้ว ดังนั้น ณ วันนี้ไม่ใช่เวลาของท่านแล้ว ประชาชนทั้งประเทศเขาเปลี่ยนใจแล้ว เสียงที่สนับสนุนท่าน 13 เปอร์เซ็นต์ คือปาร์ตี้ลิสต์  13 คน นั่นก็ให้เห็นแล้วว่าท่านเพียงพอแล้ว ก็ควรยอมรับสภาพนั้นไม่ใช่ฝืน ดึงดันต่อไป แม้ท่านจะมีกลไกที่ทำได้ก็จริง แต่อย่าเสี่ยงทำในสิ่งนั้นเลย ไม่เป็นประโยชน์

พี่คิดว่จะกลับมามั้ย?

สนธิญา : ถ้ากลับ กลับได้ แต่เข้าใจว่าท่านคงไม่กลับ คงปล่อยให้ก้าวไกลหรือเพื่อไทยเดินไปสุดทาง แล้ววัดฝีมือการทำงานสักปีหรือสองปี ถ้าภายในปีหรือสองปี เพื่อไทยไม่สามารถกระทำการหรือผลักดันผลงานเป็นที่พอใจของประชาชน ผลงานเดิมๆ ของท่านประยุทธ์ก็จะเริ่มประจักษ์ขึ้นมาเรื่อยๆ ถึงวันนั้นสถานการณ์อาจจะไม่เหมือนที่ก้าวไกลได้รับการเลือกตั้งเหมือนที่ผ่านมา ผมถึงมั่นใจตรงนี้ว่า อายุท่านประยุทธ์สามารถเดินได้อยู่ ยังแข็งแรง ถ้าเทียบกับไบเดนก็คนละเรื่องเลย เขา 80 กว่าแล้วยังเลือกตั้ง ผมว่าสถานการณ์ท่านประยุทธ์นั่งสบายๆ ใจเย็นๆ แล้วให้เป็นไปตามนโยบายที่เขาอยากทำ 3 ปีให้เขาทำไปเลยให้เต็มที่ วันนั้นค่อยกลับมาเทียบดูกันว่าผลงานกับสิ่งที่ท่านทำมา กับสิ่งที่สองพรรคนี้ซึ่งเป็นขวัญใจพี่น้องประชาชน ซึ่งไม่ใช่ส่วนมากก็จริง ทำได้ขนาดไหน

อ.สมชัย : ประเด็นนี้น่าสนใจ ถือว่าเป็นความใจกว้างของคุณสนธิญา ต้องให้โอกาสเขาทำงานก่อน ปัญหาอยู่ตรงนี้ด้วย ว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลหรือเพื่อไทยก็ดี สัญญาไว้กับประชาชน มีเยอะเหลือเกิน หรือความคาดหวังของสองพรรคนี้เยอะเหลือเกิน ณ วันนี้ต้องให้โอกาสเขาแสดงฝีมือในการทำงาน ถ้าทำไม่ได้จริง คุย ก็กลับเป็นอีกแบบนึง แต่ถ้าเขาทำได้จริง ไม่ด้ผุดไม่ได้เกิดเลยนะครับ เท่ากับเป็นพรรคมีฝีมือ แก้ปัญหาได้ และเป็นพรรคที่จะได้รับการเลือกตั้งในครั้งต่อๆ ไปด้วย วันนี้ต้องชม สนธิญาใจกว้างมาก

สนธิญา : ขอกราบเรียนนิดนึงว่ายังเหมือนเดิมว่าพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล ยังไงก็ไม่จริงใจต่อกัน ผมยืนยันตรงนี้หนึ่งมาเก็ตแชร์หรือการตลาดเขาอยู่กลุ่มเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อไหร่ก็ตาม ก้าวไกลเดินต่อไปเรื่อยๆ ใหญ่โตไปเรื่อยๆ เพื่อไทยก็จะเล็กลงเรื่อยๆ

อ.สมชัย นี่คนเขาจะจับมือกัน ไปเสี้ยมให้เขาแตกกันนะ

สนธิญา : ผมไม่ได้เสี้ยมนะ นี่คือเรื่องจริง ถ้าเสี้ยมได้ก็เสี้ยม แต่ถ้าเส้นทางการเมืองนี่คือเรื่องจริง พรรคที่มีกลุ่มลูกค้าเดียวกัน ถามว่าเพื่อไทยเกือบสูญพันธุ์ในกรุงเทพฯ ก็เพราะก้าวไกล ถ้าคุณไปสนับสนุนให้ก้าวไกลทำงานเรื่อยๆสัก 2-3 ปีถ้าเขาทำได้บรรลุ ภาคอีสานก็หมดนะ

อ.สมชัย : ไม่ๆ กรุงเทพฯ อย่าไปหวังอะไรมากมาย คนกรุงเทพฯ เปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาคิดว่าเป็นสิ่งใหม่เป็นความหวังของเขาได้ เขาก็จะโหวต วันนี้เป็นก้าวไกลหมดก็ไม่แน่ วันหน้าอาจไม่ใช่ก็ได้

สนธิญา :   ถ้าสังเกตคะแนนกรุงเทพฯ รวมไทยสร้างชาติเป็นที่สองค่อนข้างจะเยอะ แม้คะแนนต่างกัน ทีสองเกินครึ่งของรวมไทยสร้างชาติ ต้องพูดตรงไปตรงมาว่าคะแนนของพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะบัญชีรายชื่อมาจากพลเอกประยุทธ์ทั้งหมด ของคนอื่นหาสัก 10 คะแนนได้หรือเปล่าไม่รู้

ดร.ยุทธพร การเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาในลักษณะแบ่งขั้วทางการเมือง ออกมาแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่น่าสนใจในแต่ละขั้วมีค่ายย่อยๆ เช่น ในขั้วฝ่ายที่เรียกเสรีนิยมหรือประชาธิปไตย มีอยู่สองค่ายใหญ่ คือก้าวไกลหรือเพื่อไทย แต่ก้าวไกลอาจชัดเจนกว่าเรื่องแคนดิเดต เรื่องบทบาทคุณพิธาบนเวทีดีเบต หรือแม้แต่จุดยืนเรื่องร่วมรัฐบาลหรือไม่รัฐบาลกับใคร รวมทั้งการทวิตของคุณทักษิณในโค้งสุดท้ายที่ทำให้เพื่อไทยเสียคะแนน วันนี้ก้าวไกลไม่ใช่เสียงแค่จากคนรุ่นใหม่ แต่เสียงจากหลายๆ กลุ่มที่มา อีกส่วนนึงคือคนชั้นกลางเดิมได้เทิร์นตัวเองกลับมาโหวตให้พรรคก้าวไกล เสียงของบัญชีรายชื่อที่ไหลมาก้าวไกล มาจากไหน พอย้อนไปดู มาจากพลังประชารัฐ เสียงประชาธิปัตย์ที่ไหลมา ตรงนี้อย่างที่คุณสนธิญาบอกว่าพลเอกประยุทธ์มีจุดขาย แต่การข้ามขั้วเป็นเรื่องที่ยาก แต่ข้ามค่ายภายในขั้วก็อย่างที่เห็นเป็นไปได้