วิธีลอยโคมอย่างปลอดภัย ไม่สร้างบาปให้ตัวเอง – ไม่สร้างทุกข์ให้ผู้อื่น

3256

พอถึงเทศกาลวันลอยกระทงก็มักจะเป็นประเด็นถกเถียงกันมาตลอด ในเรื่องของ “โคมลอย” ที่นิยมปล่อยกันตามเทศกาลสำคัญของไทย เนื่องจากก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดอยู่บ่อยๆ ทั้งเพลิงไหม้จนวอดวายกันไปแทบทุกปี และบางทีก็ไปติดกับสายไฟฟ้าทำเอาไฟดับไปทั้งซอยทั้งหมู่บ้าน และที่น่าหวาดเสียวที่สุดก็คือ การไปรบกวนการบนิของอากาศยาน จนทำให้สนามบินที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโคมลอยทุกปีต้องทำการหยุดบินชั่วคราวในช่วงค่ำคืนของเทศกาลสำคัญ

การปล่อยโคมลอยแม้จะถือเป็นประเพณี และดึงดูดการท่องเที่ยว แต่ความปลอดภัยก็ต้องมาก่อนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นอะไรก็ตามไม่เฉพาะโคมลอยนี่เท่านั้น ในโอกาสเทศกาลวันลอยกระทงวันนี้ bkk variety ก็ขอนำข้อมูลดีๆ จาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับวิธีการลอยโคมลอยอย่างปลอดภัยให้ได้นำไปปฎิบัติกัน….ที่สำคัญต้องตระหนักไว้เสมอว่า “ลอยทุกข์โศกให้ตัวเองแล้ว จงอย่าสร้างบาปด้วยการนำพาทุกข์ไปสู่ผู้อื่น” และ safety first ไว้ก่อนไม่ประมาทเป็นดีที่สุด!!Picture10

ลักษณะของโคมลอยตามมาตรฐาน

1. โคมลอยที่ปล่อยต้องมีปริมาตรไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร และทำจากวัสดุธรรมชาติ

2. โคมลอย ส่วนที่เป็นตัวโคม ต้องทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น กระดาษ ส่วนตัวโครงของโคมทำจากไม้ไผ่ และต้องไม่ติดอุปกรณ์หรือวัสดุตกแต่งใด ๆ ที่มีคุณสมบัติติดไฟหรือเกิดประกายไฟลุกไหม้ได้ง่ายไว้กับโคมลอย

3. ส่วนที่เป็นเชื้อเพลิงทำจากกระดาษชุบเทียน ขี้ผึ้ง หรือพาราฟิน ซึ่งใช้สำหรับจุดไฟให้อากาศร้อนบรรจุในตัวโคม เพื่อให้โคมยกตัวลอยตัวสู่อากาศเองได้

4. การยึดติดเชื้อเพลิงกับตัวโคม ให้ยึดติดด้วยเชือกทนไฟ เชือก หรือลวดอ่อน เบอร์ 24 เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.5 มิลลิเมตร จำนวน 2 เส้น แต่ละเส้นความยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร

5. โคมลอยขนาดใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางต้องไม่เกิน 90 เซนติเมตร ความสูงต้องไม่เกิน 140 เซนติเมตร น้ำหนักเชื้อเพลิงไม่เกิน 55 กรัม ระยะเวลาการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงไม่เกิน 8 นาที สำหรับโคมลอยที่มีขนาดลดลงให้เป็นไปตามส่วนของขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ความสูง น้ำหนักเชื้อเพลิง และระยะเวลาการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง

การปล่อยโคมลอยอย่างปลอดภัย

ควรปล่อยโคมลอยในสถานที่โล่งไม่มีสิ่งกีดขวางใด ๆ และปล่อยในช่วงเวลาที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้สังเกตว่าที่นั้น ๆ ไม่มีสายไฟฟ้าอยู่ในบริเวณใกล้เคียง หรือหากมีต้องแน่ใจว่าเมื่อปล่อยโคมลอยแล้วจะไม่ลอยไปแตะถูกสายไฟฟ้าได้

ควรหลีกเลี่ยงการใช้โคมลอยที่มีโครงเป็นโลหะ และหากพบเห็นโคมลอย ลอยไปแตะหรือเกี่ยวพันกับสายหรือเสาไฟฟ้า ต้องรีบแจ้งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคใกล้บ้านทราบโดยด่วน