วิธีแก้ไขน้ำประปาเค็มด้วยการต้มได้ผลจริงไหม?

144

หลายคนหาวิธีแก้ไขด้วยการต้มน้ำประปา หลังกรุงเทพและปริมณฑลมีปัญหาน้ำประปาเค็ม ว่าแต่นั่นเป็นวิธีแก้ที่ได้ผลจริงหรือไม่?

ช่วงนี้ทั่วกรุงเทพและปริมณฑลประสบปัญหาน้ำประปาเค็ม เพราะน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติขึ้นมาถึงจุดรับน้ำดิบของการประปานครหลวง (กปน.) และเนื่องจากภัยแล้ง โดยบางพื้นที่จะมีค่าความเค็มที่เกินมาตรฐาน ซึ่งโดยมากจะเป็นช่วงเวลากลางวัน

หลังชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน เพราะน้ำประปาภายในบ้านอาจมีรสชาติเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง หลายคนได้ใช้วิธีแก้ไขด้วยการต้ม เพราะเชื่อว่าสามารถลดน้ำประปาเค็มหรือกร่อยลงได้

แต่นั่นไม่ใช่วิธีแก้ไขน้ำประปาเค็มที่ถูกต้องหรือเป็นวิธีที่ได้ผล!!

ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า ความจริงแล้ว “น้ำประปาเค็มนั้นเมื่อต้มแล้วก็จะยิ่งเค็ม ดื่มไม่ได้”

“ในแง่ความเป็นวิทยาศาสตร์ระดับประถมศึกษาเกี่ยวกับน้ำ หากเราเอาน้ำไปต้มจะเกิดปฏิกิริยาที่เรียกว่า “การระเหย” ทำให้ปริมาณของน้ำลดลง แต่ความเค็มที่เกิดจากตะกอนของเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย แทนที่จะลดความเค็ม กลับทำให้น้ำมีอัตราความเข้มข้นของเกลือมากขึ้น เพราะปริมาณน้ำลดลงแต่ปริมาณเกลือเท่าเดิม ดังนั้นเมื่อนำน้ำต้มไปดื่ม ก็จะยิ่งเท่ากับได้รับเกลือในปริมาณมากขึ้น เมื่อเทียบกับมวลของน้ำที่บริโภค ซึ่งอาจเป็นอันตรายกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นคนป่วย” ดร.เจษฎา อธิบายตามหลักการวิทยาศาสตร์

คำแนะนำจาก ดร.เจษฎา ในการบริโภคน้ำดื่มที่ถูกต้องก็คือ การเอาไปผ่านระบบที่ทำให้เกลือแร่หายไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น การกรองด้วยระบบ Reverse osmosis (RO) หรือการกลั่นน้ำ ไม่ใช่การต้มน้ำ ซึ่งในปัจจุบัน เครื่องกรองน้ำที่ติดตั้งในครัวเรือน บางแบรนด์สามารถกระทำกระบวนการดังกล่าวให้น้ำมีคุณภาพและรสชาติใกล้เคียงกับน้ำดื่มบรรจุขวดแล้ว

อย่างไรก็ตาม ราคาเครื่องกรองน้ำ แบบ RO ค่อนข้างสูง เริ่มต้นที่ราคา 1,000 กว่าบาท ไปถึง 7,000 บาท แตกต่างกันที่จำนวนปริมาณน้ำที่กรองได้ ว่าสามารถกรองได้กี่ลิตร ขนาดความจุของเครื่องกรองน้ำอยู่ที่เท่าใด คุณภาพและชนิดของไส้กรอง และเทคโนโลยีที่เสริมพิเศษไป เช่น การฆ่าเชื้อ ผ่านระบบแสง UV เป็นต้น ซึ่งหลายครอบครัวไม่ได้มีกำลังทรัพย์ที่จะซื้อมาใช้ได้ทุกบ้าน

แต่ที่แน่ๆ “การต้มน้ำเค็มเพื่อหวังให้ระดับความเค็มในน้ำลดลง ก็ไม่ใช่คำตอบทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องแต่อย่างใด” อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านนี้ยืนยัน