พช. นำหลักการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและหลักธรรมาภิบาล มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติราชการ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565)

61

วันที่ 4 กันยายน 2562 นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มอบหมายให้ นายสมหวัง พ่วงบางโพ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีประกาศแผนปฏิบัติราชการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ของกรมการพัฒนาชุมชน ในงานวันพัฒนาชุมชน (CD Day 2019) ครั้งที่ 10 โดยมีนายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และผู้ตรวจราชการกรม ผู้อำนวยการสำนัก กอง ศูนย์ และพัฒนาการจังหวัด เข้าร่วมพิธีครั้งนี้ ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ
หลักสี่ กรุงเทพฯ

ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 ได้กำหนดให้แผนการพัฒนาประเทศแบ่งออกเป็น
3 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์ชาติ ระดับที่ 2 คือ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนความมั่นคงแห่งชาติ และระดับที่ 3 คือ แผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานรายปี และระยะ 5 ปี ซึ่งในช่วงการเปลี่ยนผ่านของสถานการณ์ ได้กำหนดให้ในระยะแรก ทุกหน่วยงานต้องจัดทำแผน 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) เพื่อใช้เป็นเครื่องมือและกลไกในการทำงานของทุกหน่วยงานและขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุวิสัยทัศน์ตามยุทธศาสตร์ชาติ

กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนแผนยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชน พ.ศ. 2560 – 2564 ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 – 30 มกราคม 2562 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 11 – 13 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนชลบุรี จังหวัดชลบุรี และระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2562 คณะผู้จัดทำแผนปฏิบัติราชการฯ ของส่วนกลาง โดยมีอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองอธิบดีฯ และผู้บริหารของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นที่ปรึกษา ได้ร่วมประชุมเพื่อจัดทำร่างแผนปฏิบัติราชการระยะ 3 ปี (ปี พ.ศ. 2563 – 2565) ของกรมการพัฒนาชุมชน ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 แผนปฏิบัติราชการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563 – 2565) ของกรมการพัฒนาชุมชน จัดทำขึ้นโดยได้นำสถานการณ์ปัจจุบัน และสภาพแวดล้อมของการบริหารประเทศ มาใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต ที่ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศ ชุมชนในด้านที่มีผลต่อการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน มุ่งขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งได้ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ ทำให้มีความง่าย ท้าทาย และเป็นไปได้ในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) 15 ประเด็นเร่งด่วน 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 แผนความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล สถานการณ์สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เพื่อให้บุคลากรทุกคน ใช้เป็นกรอบทิศทาง การปฏิบัติงาน โดยสามารถกำหนดรูปแบบ นำไปประยุกต์สู่การปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม ให้มุ่งไปสู่เป้าหมายสูงสุดภายใต้วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565”

โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ ดังนี้ 1) หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีอาชีพ มีรายได้ และ
มีความสุขเพิ่มขึ้น จำนวน 44,835 หมู่บ้าน 2) รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี และ 3) กองทุนชุมชนมีธรรมาภิบาล เพิ่มขึ้นจำนวน 27,000 กลุ่ม มีพันธกิจ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1) พัฒนาระบบกลไกการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้การพึ่งตนเอง 2) พัฒนาการบริหารจัดการชุมชนให้พึ่งตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3) ส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัว 4) ส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการกองทุนชุมชนให้มีธรรมาภิบาล และ 5) พัฒนาองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูง บุคลากรมีอุดมการณ์ในงานพัฒนาชุมชน และเชี่ยวชาญการทำงานเชิงบูรณาการ

กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดประเด็นการพัฒนา 4 เรื่อง ดังนี้ เรื่องที่ 1 สร้างสรรค์ชุมชนพึ่งตนเองได้ เป้าหมายเพื่อชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการและพัฒนาตนเองสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และมีความสุข
เรื่องที่ 2 ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวอย่างสมดุล เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วยนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน เรื่องที่ 3 เสริมสร้างทุนชุมชนให้มีธรรมาภิบาล เป้าหมายเพื่อชุมชนสามารถจัดการทุนชุมชนเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
เรื่องที่ 4 เสริมสร้างองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูง เป้าหมายเพื่อองค์กรมีสมรรถนะสูงในการบริหารการพัฒนาชุมชน
เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565”และเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติราชการระยะ 3 ปี (ปี พ.ศ. 2563 – 2565) ของกรมการพัฒนาชุมชน ให้ยึดหลักการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล 4 ประการ ได้แก่
1. น้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในการบริหารประเทศ
2. ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
3. พัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
4. บูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีการพัฒนาต่าง ๆ ในลักษณะประชารัฐเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และทำให้ประชาชนคนไทย มีความมั่นคง อยู่ดีมีสุข

ทั้งนี้ ให้ใช้แนวทางตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 เป็นหลักปฏิบัติในการนำพาไปสู่วิสัยทัศน์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน