เมียนมา อินไซต์ 2019 ติวเข้มนักธุรกิจไทย เจาะลึกทุกมิติการลงทุนพิชิตตลาดเมียนมา

48

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ร่วมกับสมาคมนักธุรกิจไทยในเมียนมาจัดสัมมนาการลงทุนเมียนมา อินไซต์ 2019“(Myanmar Insight 2019) ครั้งที่ 4 เพื่อเตรียมพร้อมและติวเข้มผู้ประกอบการไทยที่สนใจเปิดตลาดการค้าการลงทุนกับเมียนมา โดยระดมผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลเมียนมาร่วมเปิดมุมมองและให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพทางเศรษฐกิจธุรกิจดาวรุ่ง รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆ แบบเจาะลึกทุกมิติ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

กรุงเทพฯ 23สิงหาคม 2562 – นางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง เปิดเผยว่างานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลเชิงลึกด้านการค้าและการลงทุนในเมียนมา รวมทั้งพบปะผู้กำหนดนโยบายตลอดจนอัพเดทเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันให้แก่กลุ่มนักธุรกิจไทยหรือผู้สนใจลงทุนในเมียนมา อาทิ โอกาสความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับเมียนมา การพัฒนาเศรษฐกิจของเมียนมา อุตสาหกรรมดาวรุ่ง การปรับปรุงกฎหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์และชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายตลาดการค้า การลงทุนให้กลายเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระดับชาติ

การจัดสัมมนาในปีนี้ยังได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ นายชัยสิริ อนะมาน  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนา พร้อมฟังปาฐกถาพิเศษ“โอกาสด้านการลงทุนในเมียนมาของนักลงทุนไทย” Investment Opportunities in Myanmar for Thai Investors)จากนายตอง ทุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุน และความสัมพันธ์เศรษฐกิจต่างประเทศเมียนมาต่อด้วยการเสวนาพิเศษ “การทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม”(Doing Business for Responsibility)จากดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD)และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) อีกด้วย

โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจอาทิ แผนพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมียนมา (Myanmar Sustainable Development Plan) และโครงการพัฒนาประเทศ Project Bank ของเมียนมา, โอกาสการลงทุนด้านไฟฟ้าและพลังงาน,อัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายใหม่ที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งซึ่งเป็นอีกภาคธุรกิจที่น่าสนใจลงทุน สุดท้ายโอกาสและลู่ทางการขยายฐานการผลิตมายังประเทศเมียนมา

สำหรับการจัดอันดับของธนาคารโลก ด้านความยากง่ายในการประกอบธุรกิจหรือDoing Business 2019 ในด้านหลัก คือ การเริ่มต้นธุรกิจ, การขออนุญาตก่อสร้าง, การขอใช้ไฟฟ้า, การจดทะเบียนทรัพย์สิน,การได้สินเชื่อ, การคุ้มครองผู้ลงทุน, การชำระภาษี, การค้าระหว่างประเทศ, การแก้ปัญหาการล้มละลาย,การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา โดยเมียนมาอยู่ในลำดับที่ 171 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเมียนมามีเป้าหมายขึ้นสู่อันดับที่ 100 ภายในปี 2563-2564 และสู่อันดับที่ 40 ภายในปี 2578-2579

ด้านการลงทุนทางตรงของต่างประเทศในเมียนมา (FDI) ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2018-2019 ของเมียนมา(ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562) คณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา(Myanmar Investment Commission : MIC) อนุมัติการลงทุนคิดเป็นมูลค่า 2,499.413 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสิงคโปร์มีการลงทุนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 มูลค่า 1,600.053 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือจีน และฮ่องกงขณะที่ไทยมีการลงทุนสูงเป็นอันดับที่ 4 มูลค่าการลงทุน118.634 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในส่วนของอุตสาหกรรมที่ต่างชาติให้ความสนใจลงทุนในเมียนมามากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2018-2019 (ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562) อันดับที่ 1 คือ การคมนาคมและการสื่อสาร อันดับที่ 2 คืออุตสาหกรรมการผลิต อันดับที่ 3 ภาคพลังงาน อันดับที่ 4 โรงแรมและการท่องเที่ยว และอันดับที่ 5 อสังหาริมทรัพย์

ด้านนายสรศักดิ์ กีรติโชคชัยกุล นายกสมาคมธุรกิจไทยในพม่า (TBAM) กล่าวเพิ่มเติมว่าทางสมาคมได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทางสถานเอกอัครราชทูตไทย และจากธนาคารและบริษัทไทยรายใหญ่ที่เข้ามาทำธุรกิจในเมียนมาในการจัดสัมมนาธุรกิจ“เมียนมา อินไซต์”ปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 4 เพื่อเป็นเวทีให้

นักธุรกิจไทยได้รับทราบนโยบายด้านเศรษฐกิจของเมียนมา โอกาสการค้าการลงทุน รวมทั้งประสบการณ์ของนักธุรกิจเมียนมาและนักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จ โดยในปีที่ผ่านมามีนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงานกว่า 600 คนจากหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งทางสมาคม TBAM พร้อมที่จะสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาให้กับนักธุรกิจไทยที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในเมียนมา

สำหรับมูลค่าการค้ารวมระหว่างไทยและเมียนมา ช่วงมกราคม – พฤษภาคม 2562 คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น3,188.69 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 12.43 % จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยประเทศไทยมีการส่งออกไปยังเมียนมาคิดเป็นมูลค่า 1,888.32 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากเมียนมาเป็นมูลค่า 1,300.37 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าไทยที่ส่งออกไปเมียนมา ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล รถยนต์ ข้าวสาลี เป็นต้น ส่วนสินค้าไทยที่นำเข้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ เนื้อสัตว์สำหรับบริโภค ผลิตภัณฑ์จากพืชผัก ผลไม้ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เมียนมามีศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนอย่างยิ่งเนื่องจากมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองตลาดใหญ่สำคัญของจีนและอินเดีย และมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก อีกทั้งเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและระหว่างภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ไทยและเมียนมาเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partner) โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะส่งเสริมการค้าการลงทุนกับเมียนมาเพื่อการพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน