คณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน รวมพลัง เพื่อเสนอ “นโยบายการต่อสู้กับโรคมะเร็งที่ถูกต้องเพื่อลดอุบัติการณ์ ลดภาวะทุพพลภาพ และการเสียชีวิตจากมะเร็งในประเทศไทย” เพื่อพิจารณากลั่นกรองเป็นระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ด้วย คณะแพทยศาสตร์ 4 สถาบัน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวมพลังจัดงาน “การประชุมวิชาการด้านมะเร็งวิทยานานาชาติเฉลิมพระเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี” ในระหว่างวันที่ 8 – 9 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์” โดยการจัดงานประชุมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเผยแพร่พระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ และการแพทย์โดยเฉพาะด้านมะเร็งวิทยาของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
การจัดกิจกรรมส่วนภาคประชาชน ภายใต้แนวคิด “ยุทธการต้านมะเร็ง” มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบายเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบบูรณาการ โดยความร่วมมือกันเพื่อผลักดันเชิงนโยบายที่จะต่อสู้กับมะเร็งในระดับชาติ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาและการให้บริการอย่างเป็นธรรม รวมถึงการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งโดยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน
ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประชากรทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จากสถิติขององค์การอนามัยโลกในปี พ.ศ. 2561 คาดการณ์ว่ามีจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งประมาณ 18 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 9.6 ล้านคน หรือกล่าวได้ว่า 1 ใน 6 รายของการเสียชีวิต จะเกิดจากโรคมะเร็ง
ในขณะที่โรคมะเร็งส่วนมากยังไม่มีวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ประเทศที่มีรายได้ต่อประชากรน้อย เช่น ในกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเข้าถึงการป้องกัน การวินิจฉัย การรักษาโรค และการดูแลมะเร็งระยะสุดท้ายจะเป็นปัญหาที่สำคัญต่อผู้ป่วยและประเทศ โรคมะเร็งมักจะถูกพบในระยะที่ 3 และ 4 มากกว่าร้อยละ 50 ทำให้โอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคมะเร็งสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศทางตะวันตก การควบคุมและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งจึงเป็นปัญหาที่มีความท้าทายอย่างสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนบูรณาการ และต้องการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้ง ภาควิชาการ รัฐบาล และประชาชน เพื่อที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
สถานการณ์ของโรคมะเร็งในภาพรวมของประเทศไทย
จากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 16 ของเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจาก อุบัติเหตุ และโรคหัวใจเฉลี่ย 2 ถึง 3 เท่า หรือมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ย 8 รายต่อชั่วโมง ในปี พ.ศ. 2561 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ โดยประมาณอยู่ที่ 170,495 ราย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งประมาณ 114,199 ราย สำหรับ 5 อันดับแรกของมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มะเร็งถุงน้ำดี โดยโรคมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ ตามลำดับ
มาตรการในการลดอุบัติการณ์ ลดภาวะทุพพลภาพ และการเสียชีวิตจากมะเร็ง
การควบคุมโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีมาตรการในทุกระยะของโรคมะเร็ง ได้แก่ ควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง ตรวจคัดกรองหามะเร็งที่มีความสำคัญระยะเริ่มต้นที่รักษาให้หายขาดได้ เข้าถึงการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพและบูรณาการวิธีการรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยและเฝ้าระวังภายหลังการรักษา การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
การควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง
1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากมะเร็ง เกิดจากการมีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป การรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ที่น้อยเกินไป รวมทั้งการขาดการออกกำลังกายที่เพียงพอ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ได้แก่
-
การสูบบุหรี่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปากและคอ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งตับอ่อน
-
การดื่มสุรา ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับ นอกจากนี้สุรายังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในช่องปากและคอ
-
การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบีและซี (hepatitis B and hepatitis C virus) มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ไวรัสเอปสไตน์บารร์ (Epstein Barr Virus) มีความเกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ซึ่งพบได้บ่อยในประเทศไทย และไวรัสเอชพีวี (Human Papilloma Virus) เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง หรือมะเร็งช่องปากและคอ ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นต้น
-
การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ มะเร็งท่อน้ำดีในประเทศไทยซึ่งมีอุบัติการณ์สูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ การควบคุมการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของตัวอ่อนพยาธิใบไม้ในตับ จะช่วยลดอัตราการติดเชื้อ และนำไปสู่การลดอุบัติการณ์โรคมะเร็งท่อน้ำดีได้
การคัดกรองมะเร็งที่มีความสำคัญในระยะเริ่มต้น
การคัดกรองมะเร็งเพื่อตรวจหารอยโรคก่อนมะเร็ง และมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง และสามารถให้การรักษาให้หายขาดได้ มีหลักฐานการศึกษาที่ชัดเจนว่าการตรวจคัดกรองสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่สำคัญได้โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งปอด ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญในประเทศไทย
อุปสรรคสำคัญหลายประการในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งในประเทศไทยมีหลายประการ การเข้าถึงหน่วยงานบริการ ความรู้ความเข้าใจและความยอมรับในการตรวจคัดกรอง ความต่อเนื่องในการตรวจคัดกรอง เทคนิคที่เหมาะสมแต่มีราคาสูง การขาดแคลนบุคลากรที่ชำนาญในการตรวจคัดกรอง การดูแลผู้ที่ตรวจคัดกรองแล้วพบโรค ประเด็นเหล่านี้จะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนตั้งแต่ภาคประชาชน ภาควิชาการ ภาครัฐ จึงจะสัมฤทธิ์ผล
มาตรการในการให้การวินิจฉัยและรักษามะเร็งที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล
ปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาการดูแลรักษาโรคมะเร็งคือการลงทุนในทรัพยากรทั้งเงินและบุคลากร จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแผนแม่บทในการกำหนดนโยบายเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมและมีทิศทางที่ชัดเจน ทำให้มีการกระจายทรัพยากรเพื่อให้ประชากรส่วนรวมเข้าถึงการรักษาที่มาตรฐานอย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันต้องมีการพัฒนาศักยภาพขั้นสูงของโรงพยาบาล เพื่อให้มีการพัฒนาให้มีเทคโนโลยีขั้นสูง อีกทั้งต้องมีการวิจัยพัฒนา เพื่อให้มีการสร้างนวตกรรม การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในประเทศ
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยและเฝ้าระวังภายหลังการรักษา
ภายหลังจากการรักษาโรคมะเร็ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งส่วนมากต้องรับการฟื้นฟูสมรรถภาพของอวัยวะที่สูญเสียและร่างกายโดยรวม นอกจากนี้ยังจำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังเพื่อค้นหาโรคมะเร็งที่กลับเป็นซ้ำและป้องกันโรคมะเร็งอวัยวะอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกทั้งการให้คำปรึกษาและประเมินความเสี่ยงและนำไปสู่การคัดกรองที่เหมาะสมแก่ครอบครัวของผู้ป่วยโรคมะเร็ง กระบวนการเหล่านี้เริ่มต้นจากผู้ป่วยเอง และภาคประชาชนที่จะมีส่วนร่วมในการตระหนักรู้และปฏิบัติ ภาครัฐจำเป็นที่จะมีโครงข่ายงานบริการที่ให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถเข้าถึงได้อย่างเหมาะสม
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย
แม้เราจะมีเทคโนโลยีในการรักษาโรคมะเร็งอย่างเท่าเทียมกับประเทศที่เจริญแล้ว ผู้ป่วยจำนวนมากยังคงเข้าสู่โรคมะเร็งระยะสุดท้ายที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ก่อให้เกิดภาระต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม การบูรณาการการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในระยะท้าย ให้เข้าถึงการดูแลที่เหมาะสม เพื่อบำบัดความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ให้ผู้ป่วยเผชิญกับโรคมะเร็งระยะสุดท้ายอย่างมีศักดิ์ศรีและเหมาะสม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อให้มีนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจน และมีความร่วมมือจากภาคประชาชนในการบรรเทาภาระของผู้ป่วยและสังคม