วันพุธที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๘ เวลา ๑๓.๓๐ น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงานแถลงข่าวการจัดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๘ ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยมีนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร นางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เครือข่ายทางวัฒนธรรม สื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมงาน
นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพราะไม่เพียงแต่เป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติไทยที่ถูกที่ควรแล้ว ยังสะท้อนถึงความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมได้ให้ความสำคัญกับภาษาไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันภาษาไทยแห่งชาติได้ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเห็นคุณค่าและร่วมกันสืบสานการใช้ภาษาไทยอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน
นางสาวพลอย ธนิกุล กล่าวต่อว่า ปีพุทธศักราช ๒๕๖๘ นี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติ ในวันอังคารที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๘ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ ไทย โดยภายในงานจะมีการมอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติแก่ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นในหลากหลายสาขา การมอบรางวัลเพชรในเพลง การมอบรางวัลการประกวดสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ การมอบเกียรติบัตรผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยที่ส่งเสริมการใช้ภาษาไทย ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการ และการแสดงศิลปวัฒนธรรม ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทย และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ก่อให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ภาษาไทยอย่างภาคภูมิใจต่อไปในอนาคต
ด้านนางยุถิกา อิศรางกูร ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวเสริมว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้ดำเนินการคัดเลือกบุคคลและองค์กรที่มีบทบาทโดดเด่นด้านภาษาไทยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยในปีพุทธศักราช ๒๕๖๘ นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้พิจารณาคัดเลือกบุคคลและองค์กรเพื่อรับเข็มและโล่เชิดชูเกียรติทางด้านภาษาไทย แบ่งเป็น ๔ ประเภท จำนวน ๑๖ รางวัล ดังนี้
๑.ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จำนวน ๑ ราย ได้แก่ รองศาสตราจารย์จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ
๒.ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน ๗ ราย ได้แก่ (๑) นายกิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน (๒) นายเผด็จ บุญหนุน (๓) รองศาสตราจารย์วิภาส โพธิแพทย์ (๔) นายสมพล เข็มกำเหนิด (๕) นายเอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร (๖) นายอนุสรณ์ ติปยานนท์ และ (๗) รองศาสตราจารย์อรชุมา ยุทธวงศ์
๓.ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น จำนวน ๖ ราย ได้แก่ (๑) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประภาศ ปานเจี้ยง (๒) ผู้ช่วยศาสตราจารย์พวงผกา ธรรมธิ (๓) นายยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ (๔) นายวิเชียร รัตนบุญโน (๕) นางสำรวม ดีสม และ (๖) นายอรุณศิลป์ ดวงมูล
๔.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย จำนวน ๑ ราย และ ๑ องค์กร ดังนี้ (๑) ประเภทบุคคล ได้แก่ นางสุรีย์ พันเจริญ และ (๒) ประเภทองค์กร ได้แก่ สมาคมกวีร่วมสมัย
นอกจากนี้ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมศิลปากรในฐานะหน่วยงานหลักด้านมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ได้จัดกิจกรรมเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า ๒ ทศวรรษ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ กรมศิลปากรได้ดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ ๓ กิจกรรม ดังนี้
๑. การประกวดเพลง “เพชรในเพลง” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๘ จัดขึ้นเพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงที่มีผลงานดีเด่นด้านภาษาไทย ได้แก่ นักประพันธ์เพลงที่มีความสามารถผสมผสานความรู้ทางภาษา วรรณศิลป์ คีตศิลป์ และจินตนาการได้อย่างเหมาะสม และนักร้องที่ขับร้องเพลงได้ชัดเจนและถูกต้องตามหลักภาษาไทย มีศิลปะการใช้เสียง และถ่ายทอดจังหวะอารมณ์ในการขับร้องได้อย่างยอดเยี่ยม ทั้งยังเชิดชูเกียรติบุคคล องค์กร หรือโครงการที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมภาษาไทยและมีคุณูปการต่อวงการเพลง โดยผลการประกวดเพลง “เพชรในเพลง” เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๘
มีทั้งสิ้น ๒๐ รางวัล ได้แก่
รางวัลการประพันธ์เพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน ๖ รางวัล
๑.รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ จากเพลงกตัญญู
๒.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล ได้แก่ นายกฤตศิลป์ ฉลองขวัญ จากเพลงฟ้าหลังฝน
๓.รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ นายสลา คุณวุฒิ จากเพลงผู้หญิงหัวใจอีสาน
๔.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ได้แก่ นายพีรพัฒน์ คงเพ็ชร จากเพลงไอดินกลิ่นหญ้า
๕.รางวัลชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่ นายพยัพ คำพันธุ์
จากเพลงสู้ชีวิต
๖.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงเพื่อชีวิต ได้แก่นายสุรศักดิ์ ตันน้อย (กฤช เกรียงไกร) และ นายประเสริฐ พงษ์ธนานิกร (ราชันย์ วังทอง) จากเพลงชีวิต คือ อนัตตา
รางวัลการขับร้องเพลงดีเด่นด้านภาษาไทย จำนวน ๑๒ รางวัล
๑.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ นายทชภณ พลกองเส็ง (พลพล พลกองเส็ง) จากเพลงอยากให้รู้ว่าห่วงใย
๒.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลชาย ได้แก่ นายรัชเมศฐ์ สุวโชคพิบูลย์ (เล็ก รัชเมศฐ์) จากเพลงใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว
๓.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ นางสาวสรวีย์ ธนพูนหิรัญ (ผิงผิง) จากเพลงฟ้าหลังฝน
๔.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยสากลหญิง ได้แก่ นางสาวกวิสรา คงบุญศิริคุณ (กอกี้ กวิสรา)
จากเพลงLife of อีหล่า
๕.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ นายอนันต์ อาศัยไพรพนา (นัน อนันต์) จากเพลงจีบเธอได้ไหม
๖.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งชาย ได้แก่ นายกิตติคุน บุญค้ำจุน (มนต์แคน แก่นคูน) จากเพลงแฟนบ่ว่าบ้อ
๗.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ นางสาวสุทธิยา รอดภัย (ใบเฟิร์น สุทธิยา) จากเพลงเสียงหวานจากหลานย่าโม
๘.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่งหญิง ได้แก่ นางสาวกาญจนา มาศิริ จากเพลงแฟนเก่าที่เรายังรัก
๙.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย ได้แก่ นายวรพล นวลผกา (น๊อตตี้ freedom) จากเพลงสู้ชีวิต
๑๐.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตชาย ได้แก่ นายอิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี (จ๋าย ไททศมิตร) จากเพลงแอบเก็บความในใจไว้ภายในแว่นเรย์แบนสีดำ
๑๑.รางวัลชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตหญิง ได้แก่ นางสาวชนาภรณ์ ทวีชาติ (แพร ชนา) จากเพลงคลื่น
๑๒.รางวัลรองชนะเลิศ ผู้ขับร้องเพลงเพื่อชีวิตหญิง ได้แก่ นางสาวชฎาพร เถาบุญ (บักฟ้า ชฎาพร) จากเพลงพรหนึ่งข้อ
รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ จำนวน ๒ รางวัล
๑.รางวัลเชิดชูเกียรติ นัจจกรผู้สร้างสรรค์บทเพลงและบทละครเวที ได้แก่ นางดารกา วงศ์ศิริ
๒.รางวัลเชิดชูเกียรติ ผู้มีคุณูปการต่อวงการเพลงและดนตรี ได้แก่ นายอานันท์ นาคคง
๒.การจัดพิมพ์หนังสือหายาก โดยกรมศิลปากรได้จัดพิมพ์หนังสือหายากเรื่อง “จินดามณี ฉบับสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ” ซึ่งเป็นแบบเรียนภาษาไทยในสมัยอยุธยา สอนเรื่องอักขรวิธี การประสมอักษร และการผันวรรณยุกต์อย่างละเอียด มีคุณค่าต่อการศึกษาพัฒนาการด้านอักษรศาสตร์และการเรียนการสอนภาษาไทยในอดีต
๓.การสัมมนาทางวิชาการด้านภาษาและวรรณคดีไทย ในหัวข้อ “วรรณคดีบทละครไทย” ที่มุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ด้านภาษาและวรรณคดีไทยให้เข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง เพื่อธำรงไว้ซึ่งมรดก ทางวัฒนธรรมของชาติอย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๘ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. โดยมีการถ่ายทอดสดให้ผู้สนใจรับชมได้ทางเฟสบุ๊กกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม
สุดท้ายนี้ นางสาวพลอย ธนิกุล กล่าวเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๘ ในวันอังคารที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๘ ตั้งแต่เวลา ๐๙.๓๐ น. เป็นต้นไป ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมเฉลิมฉลอง ร่วมเรียนรู้ และร่วมสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง สร้างสรรค์ และภาคภูมิใจต่อชาติอย่างแท้จริง ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ([http://www.culture.go.th)]www.culture.go.th) หรือ Facebook Fanpage : กรมส่งเสริมวัฒนธรรม