สวทช.คัด 12 เด็กไทยรับทุน JSTP ระยะยาวจนจบ ป.เอกในประเทศ พร้อมรวมพลสมาชิก JSTP 21 รุ่น เสริมทักษะสื่อสารวิทยาศาสตร์

164

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) จัดพิธีมอบทุนการศึกษาระยะยาวจนจบปริญญาเอกในประเทศ ให้กับ 12เยาวชนไทย ประจำปี 2562 เพื่อเดินหน้าเส้นทางสายวิทยาศาสตร์ ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยพร้อมรวมพลสมาชิก JSTP เรียนรู้ทักษะการสื่อสารวิทยาศาสตร์และร่วมเดินป่าศึกษาธรรมชาติและประวัติศาสตร์ที่ช่องเขาขาด จ.กาญจนบุรี เสริมทักษะนอกห้องเรียน ระหว่างวันที่ 23-26 มิถุนายน 2562

ศ.ดร.ยงยุทธยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (JSTP) ได้สนับสนุนทุนการศึกษาและทุนวิจัยให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ให้รับทุนระยะยาวจนจบปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาในประเทศ โดยในปี 2562 มีนักเรียนนักศึกษาจำนวน 12 คน ที่ได้รับคัดเลือกให้รับทุนระยะยาว รุ่นที่ 21 ซึ่งโครงการฯ ได้จัดปฐมนิเทศ พร้อมกิจกรรมชุมนุมสมาชิก JSTP ซึ่งจัดขึ้นทุกปี ผ่านการบรรยายพิเศษเพื่อเปิดประสบการณ์และจุดประกายงานวิจัย พร้อมกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการสื่อสาร ได้แก่ การวาดภาพเพื่อการสื่อสารขั้นพื้นฐานการเล่าเรื่องด้วยภาพ และการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ4 ขั้นตอนสำหรับการนำเสนอ ได้แก่ การวิเคราะห์เพื่อเตรียมนำเสนอด้วย 5W 1H การจินตนาการ (Visualize)ข้อมูลที่จะนำเสนอออกมาเป็นภาพง่าย ๆ การเตรียมการนำเสนอ (Presentation Slide) และการนำเสนอจริง รวมถึงสร้างเวทีให้รุ่นพี่/รุ่นน้องJSTP พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างกัน และร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาที่ศูนย์ประวัติศาสตร์ช่องเขาขาดจ.กาญจนบุรีเพื่อเดินป่าศึกษาธรรมชาติและประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เสริมทักษะประสบการณ์นอกห้องเรียน นอกจากนี้ ยังเชิญผู้ปกครองของเยาวชนมาพบปะทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างเครือข่ายดูแลและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อสร้างฐานกำลังคนที่มีคุณภาพให้กับประเทศ

“โครงการJSTP มีความสำคัญกับอนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะยุคที่ประเทศจะพัฒนาก้าวหน้าไป ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องมีนวัตกรรมสิ่งใหม่ ๆ ที่ทำได้ด้วยตัวเองแม้กระทั่งสิ่งใหม่ ๆ ที่ต่างประเทศทำก็ต้องเข้าใจได้ด้วย โดย 12 เยาวชนที่ได้รับทุนปีนี้จะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกชุมนุม JSTP ระยะยาวมีโอกาสเล่าเรียนศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งอยู่ในศาสตร์ของการใช้ความคิดที่สร้างสรรค์ โครงการนี้ไม่ได้เลือกเฉพาะคนเก่งเท่านั้น เก่งหนังสืออย่างเดียวไปได้ไม่ไกล เราอยากได้คนที่เก่งรอบด้าน ทำเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสังคมหรือสร้างเครื่องไม้เครื่องมือก็ได้ สิ่งต่าง ๆ ที่คนรุ่นก่อนคิดและทำไว้ดีแล้วก็ไม่ได้ปล่อยให้อยู่เฉยเช่นนั้น มีอะไรที่สามารถทำเพิ่มเติมให้ดีขึ้นได้ นับว่าJSTP เป็นโครงการที่ดี จะมีพี่เลี้ยงเข้ามาดูแล ไม่ว่าจะเป็นJSTP รุ่นพี่ ๆ ซึ่งมี 21 รุ่นแล้วอยู่ในที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศรวมถึงนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของ สวทช. เอง  ตลอดจนบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ที่จะต้อนรับและรับรองเป็นเสมือนคลับของพวกเราฉะนั้น อย่าเป็นแค่หนอนหนังสือ ควรออกไปนอกห้องเรียน ไปศึกษาชีวิตต่าง ๆ ดูแต่ละส่วนมีความเป็นอยู่แนวอาชีพต่าง ๆ เป็นอย่างไร และการที่เราได้รู้เรื่องของการวิจัย จะช่วยให้มองโลกด้วยสายตาของนักวิจัย ด้วยความเข้าใจ หรือถ้าไม่เข้าใจก็สามารถหาแนวทางหรือวิธีการศึกษาที่จะทำให้เข้าใจสิ่งนั้น ๆ ได้”ศ.ดร.ยงยุทธยุทธวงศ์กล่าวฝากเยาวชน

ด้านเยาวชนที่ได้รับทุนJSTP ระยาวประจำปี 2562 จูน: น.ส.พัชริญา ชวลิตจินดาปริญญาตรีปีที่ 1มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า “รู้สึกดีใจและขอบคุณโอกาสที่ สวทช. มอบให้ การได้รับทุนครั้งนี้จะไปต่อยอดในการทำวิจัย ซึ่งเป็นทางที่หนูสนใจมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วเพราะอนาคตอยากเป็นแพทย์นักวิจัย โดยโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ทำ ด้วยความที่ถนัดวิชาชีววิทยากับเคมีจึงศึกษาประสิทธิภาพการสลายเมทิลีนบลูโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นโครงงานที่สังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ในการสลายสีย้อมที่อยู่ในน้ำเสียต่างๆ พยายามหาสภาวะ (condition) ที่เหมาะสมกับตัวเร่งปฏิกิริยา ว่าที่สภาวะ pH เท่าไหร่ ความเข้มข้นของสารตั้งต้นจึงจะดีที่สุดซึ่งต้องทดลองเรื่อย ๆ ซ้ำ ๆ หาวิธีใหม่ ๆ ที่ดียิ่งขึ้นเรื่อยไป โครงงานนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาน้ำเสียที่ปล่อยออกมาได้โดยตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้สลายสารพิษจะเป็นสารเคมีที่ไม่ได้เป็นพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ขณะที่ฟีฟ่า:นายทักษ์ดนัย ศิริสมบัติ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราชเผยว่า “รู้สึกดีใจมาก ผมคาดหวังว่าการได้ทุน JSTP ระยะยาว ทำให้ผมมั่นใจในเรื่องการเรียนต่อเพราะจะได้ออกมาทำโปรเจคท์และกล้าที่จะออกนอกห้องเรียนมากขึ้น โดยโครงงานที่ทำเป็นเรื่องคอมพิวเตอร์วิชั่นทำให้คอมพิวเตอร์มองเห็นภาพเหมือนที่มนุษย์มอง ให้มันเข้าใจว่าเราแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ด้วยอะไรเพื่อทดแทนการสำรวจข้อมูลแบบเก่า ที่จะสำรวจแค่หนึ่งพื้นที่ เอาไปคูณกับปริมาณทั้งหมด ทำให้เกิดค่า error ที่สูง แต่ถ้าเราใช้คอมพิวเตอร์วิชั่น จะสามารถสำรวจได้ทั้งหมด โดยที่ไม่มีค่า errorตอนนี้ใช้กับที่กรมป่าไม้ ในการสำรวจปะการังฟอกขาวและสำรวจป่า ปกติการสำรวจปะการังฟอกขาวพื้นที่ 1 กิโลเมตร จะสำรวจประมาณ 1 เมตร แล้วนำความหลากหลายของ 1 เมตรไปคูณให้ครบ 1 กิโลเมตร แต่ของผมจะใช้โดรนบินให้ทั่ว สำรวจได้ทั่วแล้วทำสำมะโนครัวได้ทั้งหมดเพื่อพัฒนาต่อไปเป็น Big Data ในการคำนวณว่า ถ้าตัวแปรประมาณนี้อีกกี่วันจะเป็นปะการังฟอกขาว เป็นต้น โดยอนาคตอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือนักวิจัย และน่าจะกลับมาเป็นอาจารย์”

อีกหนึ่งเด็กชาย ก้องฟ้า: ด.ช.กัมปนาท ยิ่งเสรี มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัยจ.ลำปางเผยว่า “ดีใจมากครับ จากโครงงานที่เริ่มต้นทำเล่น ๆ แล้วลองมาทำจริงจังและสำเร็จขนาดนี้ โดยทำโครงงานเรื่องเบาะที่บางแต่นุ่ม ประมาณว่าเป็นเบาะที่มีความบางแต่นั่งลงไปแล้วนุ่มคือ วิธีการวัดความนุ่ม สามารถวัดความนุ่มออกมาเป็นตัวเลขได้ แล้วนำมาเปรียบเทียบได้ว่าอันไหนนุ่มอันไหนแข็งซึ่งความแข็งที่ว่าคือความแข็งของการกดของหมอน โดยวิธีการวัดคือ ก้นเหวกับขอบเหว จุดที่ตัวหมอนบุ๋มลงไปสูงสุด กับต่ำสุด ว่าระยะทางเท่าไรเทียบกับความหนาของวัตถุที่เราวัด เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการปรับความนุ่มของหมอนได้”

ด้านรุ่นพี่ JSTP รุ่นที่ 15 เฌอ: นายปัญญาวุฒิ โทณานนท์ ที่กำลังจะไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านเคมีอนินทรีย์ที่ต่างประเทศ ซึ่งมีโอกาสพบปะรุ่นน้อง ๆ ในกิจกรรมชุมนุมสมาชิก JSTP ได้เสริมว่า “ในการเรียนหรือการทำวิจัยไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะประสบความสำเร็จ บางครั้งสามารถเกิดความผิดพลาดได้ เช่นพวกพี่ ๆ ที่จบมาแล้วระดับหนึ่งก็เคยเกิดขึ้น ความผิดพลาดได้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำคัญที่ว่าจะจัดการแก้ไขกับความผิดพลาดนั้นอย่างไรมากกว่าเป็นสำคัญ”