ที่นี่ดี….ที่นี่เข้มแข็ง ที่นี่”บ้านหนองกา” ชุมชนบ้านสวย เมืองสุข 

157

วันที่ 24 มิถุนายน 2562 เวลา 16.00 น. นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมฯ ติดตามตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระบรมราชาภิเษก ณ บ้านหนองกา หมู่ที่ 7 ตำบลปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีนายภิรมย์ นิลทยา รองผู้ว่าราชการจังหวัด ทีมงานพัฒนาชุมชน และชาวชุมชนบ้านหนองกา ร่วมต้อนรับ

ชาวชุมชนเล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2516 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จมายังหมู่บ้านหนองกาแห่งนี้โดยไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้ามาก่อน โดยทรงมีดำริว่า “ที่นี่ดีที่นี่เข้มแข็ง” ประชาชนในหมู่บ้านนี้จึงได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิตและพัฒนาถึงปัจจุบัน บ้านหนองกาได้รับการคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ระดับอยู่เย็น เป็นสุข ในปี 2553 และยังเป็นหมู่บ้านสวย เมืองสุข ปี 2560 ได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดหมู่บ้านพ่อหลวง เพื่อรูปธรรมเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2550

คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการแปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร ปัจจุบันหมู่บ้านหนองกาเป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่เปิดให้ผู้สนใจศึกษาดูงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เฉลี่ยแล้วปีละ 200 คณะ และยังเป็นชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ อาทิ จุดชมวิวเนินมอน้อย มีการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกลุ่มอาชีพในชุมชน โดยผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อ อาทิ มะเขือเทศกวน กล้วยกวนไส้สับปะรด ลูกอมโบราณ กระเป๋าถัก สบู่ฟักข้าว ไม้กวาดดอกหญ้า ไม้กวาดทางมะพร้าว เป็นต้น สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี

โดยกิจกรรมการตรวจเยี่ยมครั้งนี้ ได้มี กิจกรรมการปลูกต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดี ผู้ใหญ่บ้านได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งดำเนินการจนเป็นวิถีชีวิต หลังจากนั้นคณะได้พบปะพี่น้องประชาชน และเยี่ยมชมกิจกรรม 10 ฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านหนองกา การผลิตน้ำมันไบโอดีเซล การปลูกกุยช่าย การอนุรักษ์ประเพณีกลองยาวบ้านหนองกา การทำไม้กวาดดอกหญ้า การทำไม้กวาดทางมะพร้าว เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ การเลี้ยงโคนม ผลิตภัณฑ์จากวิทยาลัยการอาชีพปราณบุรี และกิจกรรมของเครือข่ายโอทอปปราณบุรี

ในโอกาสนี้ อธิบดี พช. ได้แนะนำให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อสร้างมาตรฐานภายใต้แบรนด์เดียวกัน การพัฒนาผลผลิตทางการเกษตรที่มีล้นตลาด ด้วยการสร้างวิกฤต ให้เป็นโอกาส ในลักษณะ Product champion สร้างเอกลักษณ์เฉพาะให้ผลิตภัณฑ์ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาทิ มะพร้าว และสับปะรด และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ OTOP เป็นต้น

พร้อมนี้ ได้รับฟังปัญหาและเสนอแนะการดำเนินโครงการจัดเก็บข้อมูลจปฐ.ด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเดินหน้าจัดเก็บเต็มพื้นที่ในปี 64 โดยสิ่งที่ต้องเตรียมและสนับสนุน ได้แก่
– การพัฒนาบุคลากรผู้จัดเก็บในเรื่องของการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์โดยจัดทำหลักสูตรและคู่มือ เพื่อเป็นสื่อกลางให้ความรู้แก่อาสาสมัครผู้จัดเก็บฯ

– การพัฒนาระบบจัดเก็บและประมวลผลและรายงานข้อมูล โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอต่อการขยายพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

– เน้นให้จังหวัดเตรียมสร้างความเข้าใจ เพื่อการบูรณาการระดมความร่วมมือในการจัดเก็บข้อมูล จปฐ.