รักหลอนในรั้ววัง (ตอนที่ 1)

34784

อันพระองค์ทรงฝากพระชีพไว้          หม่อมฉันขอรับใส่ในดวงจิต
อีกทรงฝากความสุขทุกชนิด           ขอถวายไม่คิดขัดจำนง
อะไรเป็นความสราญวานรับสั่ง        จะถวายได้ดังพระประสงค์
ขอแต่เพียงทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง      อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย.

กลอนบทนี้เป็นพระนิพนธ์ของ พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6เมื่อครั้งถวายตัวเป็นนางใน และรับหมั้น

พระนางเธอลักษมีลาวัณ มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณพิมล วรวรรณ มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า “ท่านหญิงติ๋ว” เป็นพระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับ หม่อมหลวงตาด วรวรรณ (สกุลเดิม มนตรีกุล) และเป็นพระขนิษฐาต่างชนนีของ พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี (พระนามเดิม: หม่อมเจ้าวรรณวิมล วรวรรณ) พระธิดาองค์โตในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมอินทร์ วรวรรณ ณ อยุธยา ซึ่งเคยเป็นอดีตพระคู่หมั้นในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับการสถาปนาเป็น “พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี”

King&Worrakanya

 พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี
พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

เรื่องราวของสองพี่น้องราชนิกูลนี้ กลายเป็นเรื่องราวซับซ้อนซ่อนรัก เพราะพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าทรงคบหากับหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ พระขนิษฐาของพระวรกัญญาปทานอย่างเปิดเผยในระหว่างที่ยังทรงหมั้นอยู่ด้วย ทั้งยังทรงติดต่อกันทางจดหมายเพื่อระบายความในส่วนพระองค์กับหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณอยู่เนืองๆ จนเรื่องราวขัดข้องหมองใจกับพระคู่หมั้น (พระวรกัญญาฯ) มาถึงจุดแตกหัก โดยมีพระราชนิพนธ์ปรากฎอยู่ในหนังสือ “ดุสิตสมิต” หลังทรงถอนหมั้นกับ พระวรกัญญาฯ ดังนี้…..

อย่าทะนงอวดองค์ว่างามเลิศ    สวยประเสริฐยากที่จะเปรียบได้
อย่างทะนงอวดองค์ว่าวิไล            อันสุรางค์นางในยังมากมี
อย่าทะนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์        จะใฝ่รักแต่องค์พระทรงศรี
นั่งรถยนต์โอ่อ่าวางท่าที            เป็นผู้ดีแต่ใจไพล่เป็นกา
อย่าดูถูกลูกผู้ชายที่เจียมตน            อย่าดูถูกฝูงชนที่ต่ำกว่า
อย่าทะนงอวดองค์ว่าโสภา            อันชายใดฤาจะกล้ามาง้องอน

ด้วยเรื่องที่พระวรกัญญาฯทำให้ขัดพระราชหฤทัยหลายครั้งหลายคราว ต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการให้ท้าวนางจ่าโขลนนำโซ่ตรวนทองคำไปเชิญพระองค์เจ้าวัลลภาเทวีมายังพระบรมมหาราชวัง แต่ด้วยทรงพระทิฐิมานะ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวีจึงไม่ยอมทูลขอพระราชทานอภัย ทั้งยังส่งหนังสือ “ศกุนตลา” ที่เคยพระราชทาน กลับไปพร้อมกับกลอนบทที่ว่า…..

ทรงภพผู้ปิ่นโปรดฦาสาย
พระองค์เองสิไม่มียางอาย        พูดง่ายย้อนยอกกรอกคำ
มาหลอกลวงชมเล่นเสียเปล่าเปล่า    ทิ้งให้คอยสร้อยเศร้าทุกเช้าค่ำ
เด็ดดอกไม้มาดมชมจนช้ำ        ไม่ต้องจดจำนำพา
เหมือนผู้ร้ายย่องเบาเข้าลักทรัพย์    กลัวเขาจับวิ่งปร๋อไม่รอหน้า
จงทรงพระเจริญเถิดราชา        ข้าขอลาแต่บัดนี้

ด้วยเหตุนี้ พระวรกัญญาฯ จึงทรงถูกขังวังหลวงอยู่ในพระบรมมหาราชวังนับแต่นั้นจนสิ้นรัชกาล (ภายหลัง ร.7 ได้พระราชทานอภัยโทษ ท่านจึงออกจากวังหลวงมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่วังพระกรุณานิวาสน์ ตรงสี่แยกถ.พิชัย ซึ่งปัจจุบันก็คือ ที่ทำการสมาคมสตรีนักธุรกิจฯ)

Laksamee2
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าและพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถอนหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน ก็ได้ทรงมีพระราชนิพนธ์ถึงหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณอยู่เสมอ  เช่น…..

รักสมรย้อนคนึงแสนซึ้งจิต        ที่คิดผิดมาแต่ก่อนถอนใจใหญ่
แม้มิมัวหลงเลยเชยอื่นไป        ก็คงได้ชื่นอุรามานานวัน

ไม่กี่เดือนต่อมาก็ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ ขึ้นเป็น “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ” ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2464 ขณะมีพระชันษาได้ 22 ปี กำลังสาวสะพรั่งและเป็นที่โปรดปราน พร้อมกับทรงหมั้นหมาย ซึ่งนั่นคือที่มาของบทกลอนในตอนต้นเรื่องนั่นเอง อาจเพราะพระนางเธอไม่ปรารถนาจะมีชะตาชีวิตรักอย่างที่พระภคินีเคยประสบมา จึงได้บอกกล่าวไว้แต่เนิ่นๆ  “ขอแต่เพียงทรงเลี้ยงให้เที่ยงตรง…อย่าผลักส่งเข้าขังวังหลวงเอย”

และที่สุดก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ความสุขสมหวังในความรักของหญิงสูงศักดิ์คนหนึ่งกลับมีเวลาอันแสนสั้นจนน่าใจหาย! ยิ่งในบั้นปลายชีวิตกลับประสบเคราะห์กรรมที่น่าใจหายยิ่งกว่า!

——
By กาลิค เดอะ วิธช์
(โปรดติดตามตอนที่ 2)