ความเข้าใจผิดๆ ที่ทำให้ “กะทิ” กลายเป็นตัวร้ายสำหรับคนรักสุขภาพ

1722

หลายคนยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการบริโภค “กะทิ ” ส่วนหนึ่งที่เข้าใจผิดเพราะคิดว่า กะทิเป็นตัวร้ายที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา แต่หารู้ไม่ว่ามี “ข้อเท็จจริง” ซึ่งได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และการยืนยันจากนักโภชนาการ ระบุว่า กะทิไม่ใช่ตัวร้ายที่เป็นทำลายสุขภาพ ตรงกันข้ามกลับเป็นอัศวินขี่ม้าขาวที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าที่ใครๆ คิดซะอีก!!

“กะทิ” ประกอบด้วยกรดไขมันที่มีขนาดปานกลาง ซึ่งถูกย่อยได้ง่าย และเคลื่อนย้ายได้สะดวก เมื่อบริโภคเข้าไปจะผ่านลำคอไปยังกระเพาะเข้าสู่ลำไส้ แล้วไปถูกเผาผลาญให้เป็นพลังงานในตับโดยไม่ไปสะสมเป็นไขมัน เหมือนกับน้ำมันไม่อิ่มตัวที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ ดังนั้นผู้บริโภคกะทิจึงแข็งแรงเพราะได้พลังงานทันทีที่บริโภคเข้าไป อีกทั้งยังไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้ดีขึ้น ก่อให้เกิดความร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารที่เราบริโภคเข้าไปพร้อมกัน ให้เปลี่ยนเป็นพลังงานแทนที่จะไปสะสมเป็นไขมันในร่างกาย

ยิ่งไปกว่านั้นความร้อนที่เกิดขึ้น ยังไปช่วยสลายไขมันที่ร่างกายสะสมอยู่ก่อนหน้านั้นให้สลายตัวไปเป็นพลังงาน จึงทำให้ผู้บริโภคผอมลง นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนไทยสมัยโบราณบริโภคอาหารคาวหวานที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบมานานนับร้อยๆ ปีแล้ว แต่กลับไม่ค่อยมีใครอ้วนจากการกินกะทิ (ดูภาพสตรีไทยยุคโบราณประกอบ)

vintagethaiwomen

ข้อมูลจากเอกสารวิชาการฉบับที่ 3/2551 โดย ดร. ณรงค์ โฉมเฉลา ประธานชมรมอนุรักษ์และพัฒนาน้ำมันมะพร้าวแห่งประเทศไทย ระบุว่า

“ขณะที่กะทินั้นมีไขมันอิ่มตัวสูง แต่ก็ดีต่อสุขภาพมากกว่าไขมันอิ่มตัวประเภทอื่นๆ ไขมันจากกะทิสามารถเผาผลาญได้ง่าย นอกจากนี้กะทิยังมีคุณสมบัติพิเศษอย่างอื่นเช่น มีสารต่อต้านมะเร็ง มีสารต่อต้านเชื้อจุลินทรีย์ มีสารต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย และมีสารต่อต้านไวรัสด้วย ในไขมันอิ่มตัวของกะทิประกอบไปด้วย กรดแลคติค ซึ่งพบในนมมารดา และพบว่ามีส่วนช่วยสร้างเสริมสมองและกระดูก และด้วยความที่กะทินั้นมีคุณสมบัติสูงในการต่อต้านเชื้อไวรัส จึงมีความหวังว่าสักวันจะสามารถสกัดยาต่อต้านโรคเอดส์จากกะทิได้ด้วย” 

สารอาหารในกะทิมีหลายชนิดทั้ง วิตามิน แร่ธาตุ และอิเล็กโทรไลท์ รวมทั้งโพแทสเซียม แคลเซียม และคลอไรด์ไขมันอิ่มตัว ไขมันอิ่มตัวในกะทิและน้ำมันมะพร้าวถูกสร้างขึ้นจากกรดไขมันห่วงโซ่สั้นและห่วงโซ่กลางได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็นพลังงานแทนการจัดเก็บเป็นไขมันจึงช่วยให้น้ำหนักลดได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้กะทิทดแทนนมได้ จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถบริโภคแลคโตสหรือแพ้นมจากสัตว์อีกด้วย

coconut food

coco-nut-milk

ในด้านสุขภาพความสวยความงาม กะทิยังช่วยบำรุงผิวพรรณ หลายคนอาจไม่ทราบว่า กะทิถูกใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์มานานแล้ว โดยมีสรรพคุณให้ความชุ่มชื้นต่อผิวและรักษาอาการผิวแห้ง ผิวเป็นผื่นแดง นอกจากนี้ยังใช้บำรุงผม และผสมน้ำอาบได้ดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อาหารทุกชนิดที่เราบริโภคเข้าไป มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งโทษมักมาจากการที่เราบริโภคมากเกินพอดี กะทิก็เช่นกัน เมื่อรู้ว่ามีประโยชน์ก็ใช่ว่าจะกินเข้าไปเต็มที่ทุกเมนูไป นั่นเพราะบางเมนูที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบอย่างพวกขนมไทยต่างๆ ก็มักจะอุดมไปด้วยน้ำตาล ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพร่างกายแน่ๆ ถ้ากินหวานจนล้นเกิน หรืออาหารคาวที่แม้จะไม่ใส่น้ำตาลหรือใส่น้อยมาก เช่น แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงมัสมั่น พแนง ต้มกะทิ ข้าวมันหรือแกงกะหรี่ เหล่านี้ควรกินแต่พอดี เพราะเมนูพวกนี้มักจะต้องมีเนื้อสัตว์เป็นส่วนผสมหลัก เช่น เนื้อสัตว์ที่ติดมัน หรือ หนังไก่ ซึ่งล้วนมีไขมันมากทำให้อ้วนและมีคอเรสเตอรอลสูง

สำหรับผู้รักสุขภาพหรือคนที่ทำกับข้าวเป็น ก็ย่อมรู้ดีว่าเนื้อสัตว์ชนิดใดและส่วนใดที่ไร้ไขมันหรือมีไขมันน้อยที่สุด เมื่อนำมาประกอบอาหารกับกะทิผสมเครื่องแกงอย่างสมุนไพรต่างๆ ที่มีสรรพคุณสูง บางตัวช่วยเผาผลาญพลังงานอย่างดีก็ย่อมไร้กังวลได้ ไม่ต้องถึงขนาดนอยด์เกินไปจนไม่ยอมแตะต้องอาหารที่มีกะทิเอาซะเลย อย่าลืมว่าเมื่อคุณดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็ย่อมสัมผัสกับสารพัดมลพิษอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ไม่มีอาหารใดๆ ในโลกที่ปราศจากพิษ 100% เช่นเดียวกับไม่มีอากาศที่ไหนบริสุทธิ์เต็มร้อยให้คุณสูดโดยไม่ปนเปื้อนฝุ่นละอองหรืออะไรเลย เพราะฉะนั้นอย่าเว่อร์เกินกว่าเหตุ เอาวิทยาศาสตร์และข้อมูลความรู้เป็นที่ตั้งในการพิจารณาทุกสิ่ง ทั้งอาหารการกิน การอยู่ และการออกกำลังที่จะสร้างสุขในชีวิตได้ก็คือ ความพอเหมาะพอดี อันถือเป็นกุญแจสำคัญสู่สุขภาพที่ดีของทุกคนนั่นเอง

รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่ากลัวการบริโภคกะทิจากความเชื่อเก่าๆ แบบผิดๆ จนเกินเหตุไป…อย่างที่บอกนั่นแหละ “กะทิมีประโยชน์มากกว่าที่คิด” 

แหล่งข้อมูล http://www.wisegeek.com/what-is-coconut-milk.htm ,เอกสารวิชาการฉบับที่ 3/2551 โดย ดร. ณรงค์ โฉมเฉลา