สำรวจวิกฤติปากท้องปีนี้ มัวชิคๆ คูลๆ อาจสายเกินไป!!

477

เริ่มมีสัญญาณกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่กลางปีที่แล้วที่สภาพเศรษฐกิจง่อนแง่น ไล่มาจนถึงต้นปีนี้ที่กำลังดิ่งเหว แต่บรรดาคนเมืองหลวงหรือชนชั้นกลางในเมืองใหญ่อาจยังสำเหนียกไม่ถึงสัญญาณอันตรายดังกล่าว เนื่องจากส่วนใหญ่เป็น “มนุษย์เงินเดือน” ที่ทุกสิ้นเดือนยังคงมีเงินเข้ากระเป๋าจึงมองสัญญาณต่างๆ ทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องไกลตัว

ส่วนชาวฟรีแลนซ์ทั้งหลายในสังคมเมืองก็อาจไม่ทันตระหนักว่า จ๊อบที่ยังไหลมาหล่อเลี้ยงเป็นระยะนั้น อาจจะเริ่มเบาลงในไม่ช้า จากการที่ผลประกอบการของหลายๆ ธุรกิจใหญ่เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นย่อมส่งผลกระทบต่อ ห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supplies Chain ที่สะเทือนมาถึงบรรดาคนทำงานอิสระทั้งหลายด้วย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง วงในของภาคธุรกิจต่างๆ เริ่มรับรู้ได้ถึงสัญญาณฟองสบู่ที่มาถึงเป็นระยะ ลูกเล็กลูกน้อยอย่างต่อเนื่อง หลายเจ้าจึงวางนโยบายเตรียมรับมือภาวะดังกล่าวบ้างแล้วทั้งการปลดพนักงาน ทำโครงการเออร์ลี่ รีไทร์ หรือออกก่อนเกษียณ ลดกำลังการผลิต ปรับตัวหาตลาดใหม่ เป็นต้น

การปรับตัวทั้งหมดนี้เกิดจากประสบการณ์ที่ไทยเคยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้งมาในปี 2540 แต่สำหรับคนชนชั้นกลางในเมืองที่กำลังใช้ชีวิตชิคๆ คูลๆ ที่เรายังคงเห็นชาวเออร์เบิ้นไปยืนเข้าคิวรอตามร้านอาหารดังๆ ยาวเหยียดจนแน่นร้าน หลายคนจึงตั้งคำถามว่า “ไหนว่าเศรษฐกิจไม่ดีไงล่ะ ทำไมร้านดังๆ คนถึงเข้าคิวยาวนัก?” คำตอบมีอยู่แล้วถ้าย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าแรก ซึ่งเหล่ามนุษย์เงินเดือนนี่ล่ะ มักจะเป็นกลุ่มท้ายๆ ที่กว่าจะรู้ตัวว่าฟองสบู่แตกโพล๊ะจนหายนะมาถึงตัว ก็ตั้งรับอะไรไม่ทันแล้ว เช่นที่เคยเกิดกับบรรดามนุษย์เงินเดือนจำนวนนับล้านคนในเหตุการณ์ฟองสบู่แตกปี 2540

พักอารมณ์ชิคๆ คูลๆ กันแป๊บ แล้วเข้าสู่โลกความจริงเพื่อเตรียมรับมือวิกฤติฟองสบู่ที่อาจมาเยือน แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่การวางแผนชีวิตไว้แต่เนิ่นๆ ย่อมดีกว่าใช่มั้ยล่ะ ที่สำคัญท่องไว้ว่าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มาดูกันว่าสัญญาณอะไรที่บ่งชี้ว่าจะกระทบต่อปากท้องของเรา…..ส่วนใครที่ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร จงข้ามบทความนี้ไปได้เลย!!

  1. ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมเริ่มมีการทยอยปิดโรงงาน บางแห่งมีการปลดคนงานออกทีละลอต อย่างต่อเนื่องดังที่เป็นข่าวมาระยะหนึ่งแล้วเมื่อปลายปีก่อน เช่น การบินไทย โรงแรมใหญ่บางแห่งในกทม. ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ทีวีดิจิตอล กลุ่มสิ่งทอ อิเล็คโทรนิก (อ้างอิงข้อมูลจากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อสิงหาคม 2558)
  2. บริษัทขนาดใหญ่ – ขนาดกลาง มีการปรับลดโอที หลังประสบภาวะขาดทุน และยอดสั่งซื้อที่ลดลงต่อเนื่อง (ข่าว http://www.thairath.co.th/content/485947 kjd89fbA6jdieeb7bbac9
  3. ธนาคารโลก ประเมิน GDP ไทยปี 58 โต 2.5% จากการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยว คาดการณ์ ปี 59 โตเพียง 2%- ส่วนปี 60 คาดการณ์โตเพียง 2.4% เท่านั้น
  4. นักท่องเที่ยวระดับคุณภาพลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ นักท่องเที่ยวจากสแกนดิเนเวีย อเมริกา ยุโรป และตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังการซื้อสูง เที่ยวในระดับใช้จ่ายเงินเต็มที่ ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาสูงเป็นอันดับ 1 คือจากจีน ซึ่งถือเป็นกลุ่มด้อยคุณภาพ มีการจับจ่ายน้อย แต่สร้างปัญหามากจนขึ้นชื่อทุกแห่งในโลก อย่างไรก็ตามปริมาณที่เข้ามามากจึงทำให้มีรายได้ดูสูงขึ้น แต่มีข้อสังเกตการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างต่ำ (ข้อมูลอ้างอิง file:///C:/Documents%20and%20Settings/Admin/My%20Documents/Downloads/Summary%20December%202015.pdf)
  5. ส่งออกไทยปี 58 มีมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการติดลบต่อเนื่องถึง 9 เดือน ซึ่งถือว่าติดลบหนักสุดในรอบ 6 ปี และมีแนวโน้มว่าส่งออกไทยยังจะหดตัวต่อเนื่องในปี 59 นี้ด้วย (ดูรายละเอียดตัวเลขส่งออกได้ในเว็บกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง)
  6. ตลาดหุ้นไทยติดลบต่อเนื่อง จากการที่นักลงทุนผวาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว (ราคาหุ้นปัจจุบันสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานปี 2558/59 ราว 5.0%) และราคาน้ำมันดิ่งทำให้เกิดภาวะค่าเงินผันผวน
  7. เศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณฟองสบู่แตก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน เนื่องจากไทยมีการส่งออกสินค้าและเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการผลิตของจีน (สัดส่วนการส่งออกมากถึง 12-13% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย)
  8. ฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เริ่มมีดีมานด์น้อยกว่าซัพพลาย เนื่องจากการระดมแข่งกันลงเสาเข็มเปิดตัวโครงการ ในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวมีผลต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อ โดยเฉพาะคอนโดตามแนวรถไฟฟ้า และคอมมูนิตี้มอลล์ที่แข่งกันเปิดอย่างถี่ยิบ ทำให้ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการเข้มงวดเข้ามาดูแลสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับภาคอสังหาริมทรัพย์แล้ว
  9. จากข้อมูลของกระทรวงการคลังพบว่า “เงินคงคลัง” หรือเงินในกระเป๋ารัฐบาลลดลงอย่างมาก ทั้งจากการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้า ประกอบกับที่รัฐบาลต้องเร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินคงคลังลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปี หลังจากที่เคยตกต่ำมาแล้วเมื่อปี 2552 จากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และค่อยๆ กระเตื้องขึ้นมาถึงหกแสนล้านบาทในปี 2555 สำหรับเงินคงคลังเมื่อสิ้นปีงบประมาณ 2558 พบว่า เหลืออยู่ราว 3 แสนล้านกว่าบาท(หายไปเยอะมาก) แม้จะถือว่าฐานะการคลังยังไม่โคม่ามากนัก แต่ต้องจับตาดูในปีนี้เงินคงคลังจะไหลออกไปอีกเท่าใดจากการใช้จ่ายเงินเกินตัวของรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง
  10. หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น โดยยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 มีจำนวน 6,005,124.74 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44.36% ของ GDP (ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพ ฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้นถึง 29,39 ล้านบาท
  11. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ เผยว่าสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยพุ่งสูงสุดในรอบ 9 ปี
  12. ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้แทนอียูยืนยันล่าสุดว่า จะยังไม่ยกเลิกใบเหลืองกับไทย โดยเสนอคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการประมงของไทยให้เป็นไปตามหลักสากล เนื่องจากไทยยังไม่มีมาตรการชัดเจนมากพอในการจัดการปัญหา ทำให้กระทบอุตสาหกรรมประมงของไทยอีกยาว
  13. กรณีการปักธงแดง ของ ICAO และการดาวน์เกรดของ FAA เกี่ยวกับมาตราฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสายการบินของไทยในแง่ภาพลักษณ์และไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้ในบางประเทศ แต่ยังโชคดีที่ EASA (สำนักงานความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป – European Aviation Safety Agency) เพิ่งประกาศไม่ขึ้นบัญชีดำสายการบินสัญชาติไทย เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา จึงยังพอมีหวังในการแก้ปัญหานี้
  14. ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้น (ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และ ธนาคารแห่งประเทศไทย) แตะระดับ 82 % ต่อจีดีพี เนื่องจากภาระหนี้ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับรายได้ที่คงที่ ซึ่งอาจกดดันต่อการบริโภคและกำลังซื้อของภาคครัวเรือนในอนาคต ส่งผลเชื่อมโยงไปถึงรายได้ของผู้ประกอบการที่พึ่งพิงกำลังซื้อในประเทศ โดยหนี้ครัวเรือนเกิดจาก 2 ผลิตภัณฑ์หลักคือ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และ สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ข้อสังเกตคือ กลุ่มที่มี “ภาระหนี้สะสมในระดับสูง” คือกลุ่มชนชั้นกลางล่าง (รายได้ราว 15,000 – 50,000 บาท) ส่วนกลุ่มหนี้ครัวเรือนภาคการเกษตรมีโจทย์ใหญ่เฉพาะหน้าจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและภัยแล้ง ส่วนที่จะกระทบมากอีกกลุ่มคือ กลุ่มลูกจ้างประจำ อันเนื่องมาจากปัญหาการลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ของภาคธุรกิจ,อุตสาหกรรมนั่นเอง

รู้อย่างนี้แล้ว หนทางแก้ที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราเองตอนนี้คือ การออม การลงทุนแบบเสี่ยงน้อย คิดก่อนจ่ายทุกครั้ง เก็บเงินไว้ให้มากและนานที่สุด ใช้จ่ายในประเทศมากกว่าปล่อยให้ไหลออกไปนอกประเทศ (จะช่วยให้เงินไหลเวียนอยู่ในประเทศแล้วย้อนกลับมาหาเรา) ที่เหลือก็ลุ้นกันว่าผู้รับผิดชอบจะแก้ปมยุ่งๆ นี้ได้หรือไม่อย่างไร….