ก่อนเข้าไตรมาสสุดท้ายปลายปี 2015 บรรดาสายการบินของไทยหลักๆ 4 บริษัท ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขกำไร-ขาดทุน ให้สาธารณชนและผู้ถือหุ้นได้ทราบกัน โดย 4 แอร์ไลน์คือ การบินไทย บางกอกแอร์เวย์ แอร์เอเซีย และ นกแอร์ มีการแถลงผลประกอบการโดยผู้บริหารระดับสูง ซึ่งปรากฎตามคาด การบินไทยยังคงขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง ส่วนนกแอร์ก็หืดขึ้นคอ ขณะที่แอร์เอเซีย กับบางกอกแอร์เวย์ บินฉิ่ว…ฟันกำไรแบบชิลๆ
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงานของการบินไทยในไตรมาสสามระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย.58 มียอดขาดทุนสุทธิ 9,894 ล้านบาท แบ่งเป็นการขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจการบิน 4,239 ล้านบาท และขาดทุนจากรายการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินและขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนอีก 4,631 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการตลอด 9 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.58 การบินไทยได้ขาดทุนสุทธิไปแล้ว 18,100 ล้านบาทจากยอดรายได้รวมที่ทั้งหมด 137,000 ล้านบาท
ขณะที่เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส” ได้ประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ใน 9 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 18,661.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,779.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,024.3
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ว่า “รายได้รวมของบริษัทฯ ในไตรมาสสามอยู่ที่ 6,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรสุทธิ 590.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,370.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นกำไรสุทธิที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 578.6 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.28 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของบริษัทฯ เป็นผลมาจากราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยและจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเป็นหลัก โดยมีอัตราการเติบโตของผู้โดยสารในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 12 โดยมีจำนวนผู้โดยสารในไตรมาสที่ 3 ทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน”
เมื่อเร็วๆ นี้ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เพิ่งถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 50 สายการบินที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดของโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 24 ประจำปี 2558 ซึ่งจัดอันดับโดยนิตยสารแอร์ไฟแนนซ์ เจอนัล (Air finance Journal) ของสหราชอาณาจักร
ด้าน บมจ. เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ผู้ถือหุ้นใหญ่ “สายการบินไทยแอร์เอเชีย” ก็ได้แจ้งผลประกอบการ ไตรมาส 3 ปี 2558 ว่า ผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยไทยแอร์เอเชียมีรายได้รวม 7,254.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน กำไรสุทธิอยู่ที่ 174.4 ล้านบาท พลิกกลับจากขาดทุนสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน หลักๆ มาจากราคาเฉลี่ยน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ค่าโดยสารเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปีนี้ มีผลประกอบการรายได้รวมอยู่ที่ 21,873.3 ล้านบาท กำไรสุทธิรวม 1,471.4 ล้านบาท โดย AAV มีกำไรสุทธิ (ส่วนของบริษัทใหญ่) ไตรมาส 3 ปี 2558 และ 9 เดือนแรกของปี 2558 อยู่ที่ 91.6 ล้านบาท และ 804.0 ล้านบาท ตามลำดับ
ส่วน บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) ยังคงหืดขึ้นคอ เนื่องจากเจอภาวะขาดทุนร่วม 1.27 พันล้านบาท โดย นายพาที สารสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ เผยว่าการขาดทุนของนกแอร์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เป็นการขาดทุนในส่วนของนกแอร์ราว 345 ล้านบาทเท่านั้น จากปัญหาเรื่องของราคาตั๋วโดยสารล้นตลาด (โอเวอร์ซัพพลาย) ทำให้เกิดสงครามราคาโดยเฉพาะเส้นทางบินในประเทศ ส่วนการขาดทุนของนกสกู๊ตหลัก ๆ เกิดจากผลกระทบจากการปักธงแดงของหน่วยงานกำกับดูแลการบินของไทย ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศหรือ ICAO แต่มั่นใจว่าปีหน้าสถานการณ์ของนกสกู๊ตจะเริ่มดีขึ้น หลังการปรับแผนทำการบินในหลายเส้นทาง อาทิ ไต้หวัน จีน และการเปิดเช่าเหมาลำในเส้นทางสู่นาริตะ ประเทศญี่ปุ่น และนกแอร์ยังมีแผนเปิดจุดบินใหม่สู่ฮานอย เวียดนาม ในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มฐานรายได้ในเส้นทางต่างประเทศเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปี 2015 หรือ 2558 นี้ นับเป็นปีที่ราคาน้ำมันตกลงอย่างมาก ส่งผลให้ต้นทุนของสายการบินลดลง ทำให้สายการบินหลายแห่งมีกำไรมากขึ้น แต่อาจต้องยกเว้นปัญหาสะสมที่เรื้อรังมานานของการบินไทย ที่ไม่ว่าต้นทุนจะลดลงอย่างไร ก็ยังคงขาดทุนมหาศาล และทำท่าว่าจะแก้ปมปัญหานี้ได้ยากยิ่งจนถึงวันนี้