อาหารไทย 7 อย่างที่ชื่อเป็นชาติอื่น แต่มีขายเฉพาะในไทย!?!

7340

อาหารคาวหวานของไทยเราแต่โบราณมาบรรพบุรุษได้ผสมผสานเอาสูตรหรือตำรับปรุงมาจากหลายชาติ นำมาพลิกแพลงประยุกต์วิธีทำและส่วนประกอบที่มีอยู่ตามพื้นบ้าน ปรุงเป็นอาหารคาวหวานจนได้รับความนิยมแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน อาหารไทยหลายอย่างอาจมีชื่อเป็นชาติอื่น ทั้งที่มีขายเฉพาะในบ้านเราเท่านั้น แต่ก็ถูกเรียกจนติดปากและทำให้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดไปตามชื่อเรียก ว่าเป็นอาหารที่มาจากชาติอื่น แต่พอไปประเทศนั้นแล้วจะหาซื้อกิน กลับหาไม่เจอไม่มีขายซะอย่างนั้น ลองมาดูกันว่าอาหารไทยๆ แต่มีชื่อเป็นชาติอื่น 7 อย่างมีอะไรบ้างและมีที่มาอย่างไร bkk variety มีคำตอบให้!

Image

1.ลอดช่องสิงคโปร์ ย้อนไปเมื่อประมาณ 60 ปีก่อน มีร้านชื่อ สิงคโปร์โภชนา ขายลอดช่องเส้นใสอยู่บริเวณหน้าโรงภาพยนต์สิงคโปร์ (เดิม) หรือโรงหนังเฉลิมบุรี บนถนนเยาวราช เป็นร้านขายลอดช่องที่คนมักแวะไปกินกันก่อนและหลังดูหนัง เมื่อลูกค้าจะไปกินที่ร้านนี้ก็มักจะพูดว่า “ไปกินลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์” สุดท้ายก็ถูกเรียกให้สั้นลงเหลือแค่ว่า “ลอดช่องสิงคโปร์” จนติดปากมาถึงทุกวันนี้ เป็นอันรู้กันว่าลอดช่องสิงคโปร์นั้น หมายถึงลอดช่องเส้นใสๆ สีเขียวมรกต ที่อยู่ในน้ำกะทิสีขาว เวลากินจะใส่น้ำเชื่อมที่มีเนื้อขนุนลอยอยู่ลงไป กับน้ำแข็งป่น ซึ่งต่างจากลอดช่องน้ำกะทิที่ใช้แป้งข้าวเจ้าผสมน้ำใบเตย แต่ลอดช่องสิงคโปร์จะใช้แป้งมันสัมปะหลังผสมน้ำใบเตย รสชาติจึงต่างกัน

large

2.ขนมโตเกียว เริ่มมาจากสมัยที่ห้างไดมารุ เปิดทำการใหม่ๆ ในปี พ.ศ. 2507 ได้มีการนำขนมนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นมาขายหลายอย่าง ซึ่งกลายเป็นที่นิยมของวัยรุ่นไทยกลุ่มชนชั้นกลางในยุคนั้นอย่างมาก ต่อมามีคนหัวใสเห็นว่าขนมนำเข้าจากญี่ปุ่นที่ขึ้นอย่างโก้หรูในราคาแพง เลยลองเอาไปทำเลียนแบบและขายราคาถูกแบบที่คนทั่วไปสามารถซื้อทานได้ และตั้งชื่อว่า “ขนมเกียวโต” ตามแหล่งผลิตขนมที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นที่ห้างไดมารูนำมาขายครั้งนั้น แต่ต่อมาชื่อได้เปลี่ยนไปเพราะคนทำป้ายร้านขนมรถเข็นดันทำป้ายผิดจากเกียวโต เขียนเป็น “โตเกียว” จึงกลายมาเป็นชื่อของ “ขนมโตเกียว” รถเข็นที่มีขายกันทั่วประเทศในที่สุด แต่ที่แน่ๆ มันไม่มีขายในเกียวโต หรือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นแน่นอน!

rice10

3.ข้าวผัดอเมริกัน ไม่มีขายที่อเมริกาแน่ๆ จะมีก็แต่ในเมืองไทยนี่แหละ เกิดมาตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ที่ทหารอเมริกันหรือพวกจีไอ มาตั้งฐานทัพในเมืองไทยเพื่อเตรียมการรบ ระหว่างนั้นพ่อครัวชื่อ “โกเจ๊ก” ได้คิดค้นข้าวผัดที่เอาส่วนผสมจากอาหารมื้อเช้าที่เป็นที่นิยมของชาวตะวันตก อย่าง แฮม ไส้กรอก ไก่ทอด ลูกเกด มาผัดรวมกับข้าว ให้บริการทหารอเมริกันที่ประจำการอยู่ในค่ายรามสูร จ.นครราชสีมา และ ที่จ.อุดรธานี ต่อมาสูตรข้าวผัดอเมริกันของโกเจ๊กก็กลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมจนแพร่หลายไปทั่วประเทศ

5_Cover-620x392

4.ขนมจีน ไม่ใช่อาหารจีน ไปเมืองจีนหายังไงก็ไม่คงเจอแน่ๆ แต่คำว่า “จีน” ในที่นี้สันนิษฐานว่า มาจากภาษามอญ ซึ่งเรียกอาหารเส้นๆ แบบนี้ว่า “คนอมจิน” (ความหมายคือ คนอม = จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน / จิน = ทำให้สุก) ขนมจีนที่แท้แล้วจึงเป็นอาหารของคนมอญหรือรามัญ แล้วแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่น ๆ ในสุวรรณภูมิตั้งแต่โบราณกาล เนื่องจากเป็นอาหารที่ทำง่าย รสชาติอร่อย และได้รับความนิยมสูง เพราะสามารถนำมาทานกับอาหารอื่นๆ ได้หลายอย่าง ทั้งน้ำแกงต่างๆ หรือแม้แต่ทานกับเมี่ยงปลา ส้มตำ ฯลฯ ซึ่งเป็นอาหารที่สามารถหาทานได้ทั่วไป นอกจากนี้ยังพบคำว่า ขนมจีน ในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน แสดงถึงความเป็นอาหารไทย (ประยุกต์) ที่มีมาแต่โบราณแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัย ร.2 ที่บทเสภาเรื่องนี้กล่าวถึงไว้ว่า…

“ถึงวังยับยั้งศาลาชัย                            วิเสทในยกโภชนามา

เลี้ยงเป็นเหล่าเหล่าลาวคอยชี้            ข้าวเหนียวหักหลังดีไม่เมื่อยขา

แจ่วห้าแจ่วหกยกออกมา                     ทั้งน้ำยาปลาคลุกหนมจีนพลัน”

20110615_173526_Klowkeak1285

5.กล้วยแขก หรือบางคนเรียกว่า กล้วยทอด ไม่มีขายในประเทศทางแถบตะวันออกกลางหรอก ต้นกำเนิดมาจากไทยเรานี่เอง แต่ที่คนไทยเรียกว่ากล้วยแขก ก็เนื่องมาจากกระบวนการทำ บางแหล่งเล่าว่า กล้วยแขก เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อชาวอยุธยาเห็นชาวอิสลามปรุงอาหารด้วยวิธีการ “ชุบแป้งทอดอาหาร” จึงได้เลียนแบบนำมาทำเป็นของทานเล่น โดยเอาผลไม้พื้นบ้านใกล้ๆ ตัวที่มีประจำทุกครัวเรือนอยู่แล้วอย่าง กล้วย มาดัดแปลงชุบแป้งทอด บางแหล่งก็ว่า แขกอินเดียทำขายมาก่อน จึงเรียกกล้วยแขกสืบมา แต่ที่แน่ๆ คือใครไปประเทศอินเดียก็ไม่เคยหากล้วยแขกกินได้สักคน ข้อสันนิษฐานหลังนี้จึงตกไป อย่างไรก็ตามในประเทศอินโดนีเซีย มีของกินเล่นชนิดหนึ่งที่คล้ายกล้วยแขกบ้านเรา คนมลายูเรียกว่า “ปีซัง โกเร็ง” เป็นอาหารว่างของชาวอินโดนีเซียและมลายู ที่ใช้กล้วยมาชุบกับแป้งทอดในน้ำมันเดือด คล้ายกับกล้วยแขกหรือกล้วยทอดของไทย ต่างกันเพียงของเขาไม่ใส่มะพร้าวไม่ใส่งา และที่นั่นเขาทอดกันทั้งลูกไม่ได้ฝานบางแบบกล้วยแขกบ้านเรา

1421313574-80f3b2000f-o

6.ขนมครกสิงคโปร์ หรือ “ขนมครกใบเตย” บางคนเรียกว่า “ขนมเขียว” เป็นขนมไทยอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อชาติอื่น แต่หาไม่ได้ในสิงคโปร์ ลักษณะเนื้อขนมจะเหนียวนุ่มหอมใบเตย อันมาจากส่วนผสมหลักคือ แป้งมันสำปะหลัง กะทิ และใบเตย ซึ่งส่วนประกอบหลักที่มีแป้งมันนี่เอง คนสมัยก่อนเขาเรียก “แป้งมันสำปะหลัง” กันว่า “แป้งสิงคโปร์”  จึงเป็นที่มาของชื่อขนมครกสิงคโปร์ และส่วนผสมนี้เวลาทำให้สุกจะหยอดลงในถาดหลุมทองเหลืองตามแบบวิธีทำขนมไทยโบราณที่นิยมทำในภาชนะทองเหลือง โดยในหลุมจะเป็นพิมพ์รูปดอกไม้ พอสุกตักออกมาเนื้อขนมจะนุ่มนิ่ม ขนมครกสิงคโปร์เดี๋ยวนี้หาทานยาก จะหาย่านหรือร้านที่ทำขนมชนิดนี้ ก็เรียกว่าต้องเสาะหากันพอสมควรทีเดียว

556000016531101

7.ขนมฝรั่งกุฎีจีน มากันทั้งฝรั่งทั้งจีน แต่มีขายเฉพาะในเมืองไทยนี่แหละ ดูรูปลักษณ์อาจจะเหมือนขนมของฝรั่งบางชนิด แต่รายละเอียดและรสชาติต่างกัน “ขนมฝรั่งกุฎีจีน” เป็นขนมโบราณที่มีอายุกว่า 200 ปีแล้ว ต้นตำรับมาจากชาวโปรตุเกสที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในชุมชนกุฎีจีน (อยู่ริมน้ำเจ้าพระยาย่านฝั่งธนในปัจจุบัน) เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเหลือบ้านที่ทำขนมฝรั่งกุฎีจีนอยู่เพียงไม่กี่หลัง ชื่อชุมชนนี้กลายมาเป็นชื่อเรียกของขนมชนิดนี้ด้วย ถือเป็นขนมลูกผสมระหว่างจีนกับฝรั่ง กล่าวคือตัวขนมเป็นตำรับของโปรตุเกส ส่วนหน้าขนมเป็นตำรับของจีน ใช้วัตถุดิบเพียง 3 อย่างมาทำขนม คือ แป้ง ไข่ และน้ำตาล นำมาตีให้ส่วนผสมเข้ากันจนขึ้นฟู แล้วแต่งหน้าด้วยลูกเกด ลูกพลับ ฟักเชื่อม และน้ำตาลทราย นำไปเทใส่แม่พิมพ์อบจนขนมสุก เป็นขนมโบราณที่ชาวจีนเชื่อว่า หากรับประทานขนมฝรั่งกุฎีจีนแล้วจะร่มเย็น-ร่ำรวย เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่ากินฝักเชื่อมแล้วจะร่มเย็น ส่วนน้ำตาลทรายที่โรยหน้าหมายถึง ความมั่งคั่งไม่รู้จบเหมือนกับน้ำตาลทรายที่นับเม็ดไม่ถ้วนนั่นเอง